เทพนพเคราะห์ เทพ ๙ องค์ ผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์

เทพนพเคราะห์ คือ เทพทั้ง ๙ องค์ ผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก ๘ องค์ รวมเป็น ๙ องค์ ซึ่งให้โทษหรือสร้างอุปสรรคให้กับมนุษย์มากกว่าจะให้คุณ ต่อมาจึงต้องมีผู้ควบคุมเทพนพเคราะห์อีกชั้นหนึ่ง นั่นคือ พระคเณศ เทพผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล เทพนพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ ประกอบด้วย

 

พระอาทิตย์   เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพ   นพเคราะห์ทั้งปวง พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ ๖ ตัว ป่นเป็นผง  ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต  ลักษณะเป็นบุรุษมีผิวกาย  สีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์ เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร สัญลักษณ์เลข ๑ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๖

 

พระจันทร์  พระอิศวรทรงสร้างจากเทพธิดา ๑๕ นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษรูปงาม มีสีผิวกายขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร และอาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี สัญลักษณ์เลข ๒ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๕

 

พระอังคาร   พระอิศวรทรงสร้างจากกระบือ ๘ ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์ สัญลักษณ์เลข ๓ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๘

 

พระพุธ   พระอิศวรทรงใช้ช้าง ๑๗ เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษมีผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุม รอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย เป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหู สัญลักษณ์เลข ๔ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๗

 

พระพฤหัสบดี   พระอิศวรสร้างจากฤษี ๑๙ ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระพฤหัสบดี มีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์ สัญลักษณ์เลข ๕ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๙ เป็นครูของเทพทั้งหลาย จึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี

 

พระศุกร์   พระอิศวรทรงสร้างจากโค ๒๑ ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤตเป็นพระศุกร์ มีผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท เป็นมิตรกับพระอังคารและเป็นศัตรูกับพระเสาร์ สัญลักษณ์เลข ๖ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๒๑ พระศุกร์เป็นครูของเหล่ายักษ์

 

พระเสาร์   พระอิศวรทรงสร้างจากเสือ ๑๐ ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤตได้พระเสาร์มีสีกายดำคล้ำ ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์ สัญลักษณ์เลข ๗ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๐

 

พระราหู   พระอิศวรทรงสร้างจากหัวกะโหลก ๑๒ หัว (บางตำราว่าผีโขมด ๑๒ ตัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระราหู มีกายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมาน สีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทาง  ลุ่มหลงมัวเมา เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับ พระพุธ สัญลักษณ์เลข ๘ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๒

 

พระเกตุพระอิศวรทรงสร้างจากพญานาค ๙ ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสีดอกบุษบา (เปลวไฟ) ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง  บ้างว่า  พระเกตุเกิดจากหางของพระราหู ซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธจึงขว้างจักรตัดเอวขาด ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็นพระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี สัญลักษณ์คือเลข  ๙                                

 

การบูชาเทวดาเสวยอายุ

      หากต้องการทราบว่าเทพนพเคราะห์องค์ใดเสวยอายุให้นับอายุเต็มเป็นตัวตั้ง เริ่มต้นนับกำลังของเทพนพเคราะห์ประจำวันเกิดเวียนขวาไปตามผังทักษา  แต่ละองค์จะเสวยอายุตามกำลังแห่งตน ยกเว้นพระเกตุจะไม่เข้าเสวยอายุ แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเคราะห์กรรมหรือเพิ่มความเจริญรุ่งเรือง  คนไทยโบราณได้ผนวกความเชื่อจากศาสนาฮินดูเข้ากับศาสนาพุทธ  โดยให้จัดเครื่องบูชาถวาย ดังนี้  ข้าวปั้นจำนวนเท่ากำลังพระเคราะห์ใส่กระทง พร้อมข้าวตอก ดอกไม้ หมากพลู แล้วเขียนเลขประจำตัวพระเคราะห์(บัตร)ใส่กระทงนั้นไปบูชาพระพุทธรูป จากนั้นจุดธูปตามจำนวนกำลังพระเคราะห์  หรือหล่อพระพุทธรูปประจำเทพนพเคราะห์ถวายวัด