พระตำหนักแดง

           

           พระตำหนักแดง เดิมอยู่ในหมู่พระตำหนัก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง ๒ หมู่  พร้อมกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕  หมู่ ๑ เรียกว่า พระตำหนักเขียว พระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระเทพสุดาวดี  อีกหมู่ ๑ เรียกว่า พระตำหนักแดง  พระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสุดรักษ์ เสด็จประทับอยู่จนตลอดพระชนมายุ  แล้วสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีซึ่งเป็นพระธิดาได้เสด็จประทับ  และทรงปกครองต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๓  สมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ธนบุรี  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงทั้งหมู่ไปปลูกถวายเป็นที่ประทับ ณ พระราชวังเดิม และได้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ด้วย

          ในรัชกาลที่ ๔ หลังจากเสด็จบวรราชาภิเษกแล้ว  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงส่วนที่ที่ประทับของพระองค์มาปลูกรักษาไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่พระวิมาน ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๔๗๐ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จมาประพาสพิพิธภัณฑสถาน  ทอดพระเนตรเห็นพระตำหนักแดงชำรุดทรุดโทรมอยู่  ทรงพระปรารภว่าเป็นของโบราณสร้างอย่างประณีตพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์  และได้เคยเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระไปยิกา และสมเด็จพระอัยยิกา กับทั้งสมเด็จพระปิตุลาธิราชเจ้ามาแต่ก่อน  จึงทรงบริจาคทรัพย์ในส่วนพระองค์ประทานเพื่อปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดี  ไว้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศของพระบรมราชจักรีวงศ์สืบไป  เมื่อการปฏิสังขรณ์สำเร็จ  สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าฯ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระตำหนักแดง  เนื่องในการเฉลิมพระชันษาครบ ๖๖ ปี เมื่อ วันจันทร์ ที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๑[1]

          ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ กรมศิลปากร  ได้ดำเนินการบูรณะและย้ายพระตำหนักแดงจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้านหลังหมู่พระวิมานมาตั้งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้านหน้าหมู่พระวิมานดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ตำหนักแดงมีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียวแบบตำหนักหอ ความยาว ๗ ห้อง  มีเฉลียงที่ด้านหน้า  หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด  มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม  กรอบคูหาหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า  ใบระกา  หางหงส์ และนาคสะดุ้ง  ตัวเรือนทำฝาปะกน  ดุมอกและเชิงบน-ล่างอกเลาบานประตูหน้าต่าง แกะสลักลวดลายอย่างงดงาม  ลักษณะเด่นของตำหนักแดงคือ พระแกลที่มีฐานเท้าสิงห์ประกอบอยู่ตอนล่าง ซึ่งมักจะไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน  และมีเสานางเรียงรับชายคาทางด้านขวาและด้านหลังจำนวน ๑๕ เสา  ซึ่งเป็นลักษณะที่ปรากฏในเรือนที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ปัจจุบันภายในจัดแสดงอย่างตำหนักของเจ้านายโบราณ  ได้แก่  สิ่งของส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี  และเครื่องเรือนของใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์



          [1]ยอร์ช เซเดส์,โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร  (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๑), หน้า ๒๗ – ๒๘.