พระที่นั่งมังคลาภิเษก

          พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสร้างคู่กับพระที่นั่งเอกอลงกฎ  เป็นพระที่นั่งโถงตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว สองข้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยซึ่งเป็นท้องพระโรง มีเกยสำหรับทรงพระราชยานอยู่ทางด้านหน้า  พระที่นั่งองค์นี้สร้างทำนองเดียวกับพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง  ตามลักษณะที่เรียกกันในสมัยก่อนว่า “พระที่นั่งเย็น” หมายถึงเป็นพระที่นั่งโถงสำหรับตากอากาศสำหรับพระที่นั่งเอกอลงกฎได้รื้อลงเมื่อปรับปรุงวังหน้าเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร  ปัจจุบันคงเหลืออยู่เฉพาะพระที่นั่งมังคลาภิเษก

          พระที่นั่งมังคลาภิเษกเป็นพระที่นั่งโถงชั้นเดียวยกพื้นสูง   ผังพื้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ขนาดกว้าง ๑ ห้อง ยาว ๒ ห้อง มีเฉลียงรอบ วางผังตามแนวตะวันออก - ตะวันตก  หันหน้าสู่ทิศตะวันออก  มีบันไดทางขึ้นพระที่นั่งจากด้านหลัง ตอนหน้าลดชั้นเป็นชานและมีเกยสำหรับทรงพระราชยาน  หลังคาทรงจั่วมีมุขลด ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ ตับ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี  กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายเทพนมล้อมรอบด้วยลายกระหนก เสารับหลังคาทั้งช่วงในและช่วงนอกเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ลบมุม  ผนังภายในพระที่นั่งตั้งแต่คอสองจรดพื้นเขียนลายดอกไม้ร่วงเคล้าสัตว์ทวิบาทและแมลง  เช่น นก ค้างคาว แมลงปอ ผีเสื้อ กระจายกันอยู่ระหว่างลายดอกไม่ร่วง  นับเป็นตัวอย่างของจิตรกรรมของพระบวรราชวังในช่วงรัชกาลนี้เป็นอย่างดี

ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ - ๒๔๗๔ มีการบูรณะพระที่นั่งมังคลาภิเษก  เสาพระที่นั่งเดิมก่ออิฐหุ้มเสาไม้  ได้บูรณะโดยเจาะเอาเสาไม้ออกแล้วหล่อคอนกรีตทุกต้น พื้นพระที่นั่งร่วมใน เฉลียง และพื้นหน้าเกยเดิมเป็นไม้ ได้เปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีตปูกระเบื้องซีเมนต์ลายแดง  พื้นหน้าเกยปูกระเบื้องซีเมนต์ลายหนังจระเข้[1]



          [1] (๔) ศธ. ๒.๑.๑/๑๘๗  หน้า ๑๐.