เก๋งนุกิจราชบริหาร

        เก๋งนุกิจราชบริหารเป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งบวรปริวัติ  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระวิสูตรวารี (มลิ) เป็นนายงานสร้าง  แต่ค้างอยู่จนเสด็จสวรรคตยังไม่แล้ว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างต่อมาจนเสร็จ  พระที่นั่งบวรปริวัตรเป็นที่ที่ประทับเวลาเสด็จมาค้างแรมอยู่ในพระราชวังบวรฯ ตอนที่สร้างพระที่นั่งบวรปริวัติ มีประตูและกำแพงกั้นเป็นบริเวณหนึ่งต่างหาก  เป็นแต่ตั้งอยู่ติดกับบริเวณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  ศาลา (เก๋งจีน) และสวนที่สร้างในพระที่นั่งบวรปริวัติเป็นอย่างจีนทั้งสิ้น  พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงจัดเป็นอย่างจีนบริเวณหนึ่ง เป็นอย่างฝรั่งบริเวณหนึ่งมาแต่เดิม ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๗๗ เมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์  ได้ใช้บริเวณพระที่นั่งบวรปริวัติและเก๋งนุกิจราชบริหารเป็นโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์[1]

         เก๋งนุกิจราชบริหารตั้งอยู่ติดกับกำแพงด้านทิศเหนือของพระที่นั่งบวรปริวัติ ลักษณะเป็นอาคารแบบจีนก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ขนาดกว้าง ๔.๔๐ เมตร ยาว ๗.๘๐ เมตร สูง ๔.๕๐ เมตร หลังคาเป็นแบบจีน  มุงกระเบื้องดินเผาแบบจีน หน้าบันและสันหลังคาเขียนสีลวดลายแบบจีน  กลางสันหลังคาเขียนเป็นรูปดอกพุดตานและไก่ฟ้า  ด้านหน้ามีหลังคาปีกนกคลุม  ประตูบานพับ (บานเฟี้ยม) เขียนสีเป็นรูปเครื่องมงคลของจีน  ข้างประตูตั้งตุ๊กตาจีน ฝาผนังภายในทั้ง ๓ ด้านเป็นภาพจิตรกรรมเรื่องเกี่ยวกับพงศาวดารจีน เรื่องห้องสินเต็มทั้งสามด้าน มีอักษรกำกับเป็นตอนๆ ไป  โดยเริ่มที่ผนังด้านขวาแล้วเขียนภาพเวียนซ้าย (ทวนเข็มนาฬิกา) ตามความนิยมของช่างจีน [2]

          เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๕  กรมศิลปากรได้รื้ออาคารพระที่นั่งบวรปริวัติลง  เนื่องจากชำรุดจนยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์



[1]หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์, พิพิธภัณฑสาร เล่ม ๔ เรื่องตำนานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงเทพฯ (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๘๐), หน้า ๑๖- ๑๘.

          [2] ศานติ ภักดีคำ และ นวรัตน์ ภักดีคำ, “จิตรกรรมเรื่องห้องสินในเก๋งนุกิจราชบริหาร” เมืองโบราณ ปีที่ ๓๓, ฉบับที่ ๑  (มกราคม – มีนาคม ๒๕๕๐) : หน้า ๖๙.