ปรับขนาดอักษร

กลุ่มงานช่างปิดทองประดับกระจก

 

 

ท่านท้าวมหาพรหมของโรงแรมเอราวัณ

ภารกิจกลุ่มงาน : งานช่างปิดทองประดับกระจก

      งานช่างปิดทองเป็นงานประเพณีศิลปกรรมในการตกแต่ง

ส่วนประกอบของงานศิลปกรรมไทย  ให้ดูว่างานศิลปะนั้นๆ

เป็นทองคำสุกปลั่งเหลืองอร่าม เนื่องจากเป็นความเชื่อ

เป็นความนิยมตามแบบฉบับของไทย และของชาวเอเชียหลายเชื้อชาติมาแต่โบราณ

      งานลงรักปิดทองในประเทศไทยจะมีมาตั้งแต่ไทยได้รับพระพุทธศาสนามาจากอินเดีย ดังมีหลักฐานปรากฏว่ามีช่างลงรักปิดทองมาแต่สมัยสุโขทัย และสืบทอดต่อเนื่องมา 

แม้ในปัจจุบันก็ยังนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย
      งานช่างปิดทองนั้นเป็นงานที่คู่กับงานช่างรักมาโดยตลอดและงานช่าง ประดับกระจกก็เป็นงานช่างรักประเภทหนึ่งมาแต่โบราณภายหลังได้รับการจัดเป็น งานประณีตศิลป์อีกแขนงหนึ่ง เนื่องด้วยเป็นงานตกแต่งสิ่งอุปโภคหรือครุภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความงามเพิ่มเติมสมบูรณ์ด้วยศิลปะ ลักษณะบนผิวภายนอกของสิ่งนั้นๆ โดยการประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ผิวมันวาว ซึ่งได้รับการตัดแบ่งและแต่งเป็นชั้นเล็กชิ้นน้อยติดต่อกันเป็นลวดลายหลาก หลายแบบด้วย

 

 

 

 

งานช่างปิดทอง

       หน้าที่ความรับผิดชอบ

       ๑. สำรวจ วางแผน ประมาณการด้านช่างปิดทอง

       ๒. สร้าง ซ่อมเพื่อการใช้งานและซ่อมอนุรักษ์งานศิลปวัตถุด้านศิลปกรรม ด้านช่างไทยทั้งแบบดั้งเดิม แบบสมัยปัจจุบันที่ละเอียดวิจิตรประณีต

       ๓. จัดเก็บรวบรวมข้อมูลวิชาการด้านช่างปิดทอง

       ๔. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยเพื่อจัดทำองค์ความรู้ พัฒนาความรู้ความสามารถ เทคนิค วิธีการ

       ๕. จัดทำตำรา แบบแผน เอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านช่างปิดทอง เพื่อการเผยแพร่ให้ความรู้แก่องค์กรและบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน

 

งานช่างปิดทอง

          งานช่างปิดทอง คือ กรรมวิธีการตกแต่งผิวภายนอกของวัตถุสิ่งของเครื่องใช้และส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยด้วยการลงรักปิดทองคำเปลว เพื่อให้วัสดุหรือส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมเหล่านั้นเป็นสีทองคำเหลืองอร่ามและเป็นมันวาวเสมือนทำด้วยทองคำ อันเป็นความเชื่อตามแบบประเพณีนิยมในสังคมไทยแต่โบราณ

          การทำพื้นด้วยรัก คือ การเตรียมพื้นสำหรับปิดทอง ด้วยการโป๊ว อุด ขัดแต่งผิววัตถุที่จะปิดทองให้เรียบเนียน โดยใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น รัก สมุก เป็นต้น

          การทำพื้นด้วยวัสดุทดแทน คือ การเตรียมพื้นสำหรับปิดทอง ด้วยการโป๊ว อุด ขัดแต่งผิววัตถุที่จะปิดทองให้เรียบเนียน โดยใช้วัสดุทางวิทยาศาสตร์ เช่น สีโป๊วไม้แห้งเร็ว สีน้ำมัน อีพ๊อกซี่  เป็นต้น

         ยางรัก คือยางที่ได้จากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่การเจาะหรือการกรีดต้นรักเพื่อให้ยางรักไหลออกมาแต่ละครั้งต้องให้เวลาประมาณ ๑๐ วัน จึงได้ปริมาณยางรัก ยางรักที่ได้จะมีสีหม่นๆ เก็บไว้นานๆจะกลายเป็นสีดำ

         รักน้ำเกลี้ยง  คือรักที่มีความเหนียวโดยกรองแล้วนำไปตั้งกลางแดด หรือตั้งไฟอ่อนๆ ใช้ทาฉาบผิวรักสมุกที่ขัดเรียบให้ขึ้นมัน เพื่อเวลาปิดทองจะได้เป็นเงางาม

         สมุก คือผงถ่านใบตอง ผงถ่านกะลา ผงดินเผา ผงอิฐ ฯลฯ บดละเอียดกรองด้วยผ้าขาวบาง

         รักสมุก คือการนำสมุกอย่างใดอย่างหนึ่งมาผสมกับรักน้ำเกลี้ยง (อัตราส่วนโดยประมาณยางรัก ๑ ส่วน ต่อสมุก ๓ ส่วน)สำหรับเตรียมพื้นเพื่อปิดทองและประดับกระจก   

 

 

 

งานช่างประดับกระจก

       หน้าที่ความรับผิดชอบ

       ๑. สำรวจ วางแผน ประมาณการด้านช่างประดับกระจก

       ๒. ออกแบบเขียนแบบ กำหนดสี ลายประดับกระจก

       ๓. สร้าง ซ่อมเพื่อการใช้งานและซ่อมอนุรักษ์งานศิลปวัตถุด้านศิลปกรรม ด้านช่างไทยทั้งแบบดั้งเดิม แบบสมัยปัจจุบันที่ละเอียดวิจิตรประณีต

       ๔. จัดเก็บรวบรวมข้อมูลวิชาการด้านช่างประดับกระจก

       ๕. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยเพื่อจัดทำองค์ความรู้ พัฒนาความรู้ความสามารถ เทคนิค วิธีการ

       ๖. จัดทำตำรา แบบแผน เอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานช่างประดับกระจก เพื่อการเผยแพร่ให้ความรู้แก่องค์กรและบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน

 

ช่างประดับกระจก

        ช่างประดับกระจกเป็นงานช่างไทยโบราณที่ยังคงสืบทอดเป็นเอกลักษณ์ของชาติมาจนถึงปัจจุบัน เป็นช่างประเภทหนึ่งที่ต้องอาศัยฝีมือ ความชำนาญในการ สร้าง ซ่อมงานประณีตศิลป์ ในการประดับตกแต่งเครื่องประกอบอาคารสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในราชพิธีและพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน คันทวย ซุ้มประตู หน้าต่าง ฐาน ตู้เตียง ธรรมาสน์ ตะลุ่ม กระบะ ฯลฯ

 

กระจกที่ใช้ประดับตกแต่งในงานประณีตศิลป์ต่างๆรวมถึงงานประดับสถาปัตยกรรมไทย มีอยู่ประมาณ ๓ ชนิด คือ

       ๑. ฉาบหลังด้วยตะกั่วเกรียบ (ตะกั่วมากดีบุกน้อย) เรียกว่ากระจกเกรียบหรือกระจกจีน พบมากในศิลปวัตถุ ในสมัยอยุธยา ปัจจุบันไม่มีกระจกชนิดนี้แล้ว มี ๓ ชนิด คือ

          ๑.๑. ชนิดแผ่นบาง ใช้ประดับงานที่ต้องการความละเอียดและประณีต เช่น เครื่องประกอบโขน ละคร กระบะ ตะลุ่ม เครื่องสูงต่างๆ

          ๑.๒. ชนิดแผ่นหนา ใช้ประดับตกแต่งภายนอกอาคารและไม่ละเอียดมาก เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน เสา และงานที่มีพื้นที่ประดับกระจกขนาดใหญ่ (กระจกชนิดหนาจะใช้กรรไกรตัดได้)

          ๑.๓. ชนิดที่เป็นรูปทรงต่างๆและมีลักษณะนูน เช่น วงกลม หยดน้ำ เป็นต้น              

       ๒. ฉาบด้วยตะกั่วนม (ตะกั่วบริสุทธิ์) เรียกว่า กระจกเปียกหรือกระจกอ่อน  มีสีใส ดาดลงบนแผ่นตะกั่วนมชิ้นใหญ่ๆ พบมากตามวัดโบราณทางภาคเหนือ (กระจกชนิดนี้จะใช้กรรไกรตัดได้)   มีลักษณะคล้ายกระจกเกรียบ ปัจจุบันไม่มีกระจกชนิดนี้แล้ว

       ๓.ฉาบด้วยปรอท เรียกว่า กระจกแก้ว  มี ๒ ชนิด คือ 

          ๓.๑. ชนิดที่มีลักษณะโค้ง กระจกแบบโค้งให้แสงสะท้อนและความแวววาวมากกว่ากระจกแบน

          ๓.๒. ชนิดที่มีลักษณะตรง แบน เรียบ หนา

 

ประเภทของงานช่างประดับกระจก จำแนกได้ ๕ ลักษณะ ดังนี้

       ๑. ประดับกระจกแบบเต็นพื้นเรียบ คือการประดับกระจกล้วน เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคามณฑป เสา ระเบียง ท้องไม้ แท่น   ฐานต่างๆ

       ๒. ประดับกระจกในร่องลาย คือการใช้กระจกสีต่างๆ มาประดับลงในร่องช่องว่างระหว่างลาย (ช่องไฟ) จะช่วยให้ลวดลายที่ปิดทองดูชัดเจนขึ้น เช่น หน้าบัน ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง คันทวย เป็นต้น

       ๓. ประดับกระจกลายยา คือการขุดพื้นไม้ลงไปให้ได้ตามลวดลายที่กำหนด ตัดกระจกสีต่างส่วนพื้นช่องว่างระหว่างลาย (ช่องไฟ) ปิดทองทึบ เช่น บานประตู บานหน้าต่าง โต๊ะ ตู้ เป็นต้น

       ๔. ประดับกระจกมุกแกมเบื้อ คือการประดับกระจกสีผสมกับงานประดับมุก เช่น ตู้พระธรรมวัดบางบำหรุ ฝั่งธนบุรีเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ   พระนคร

       ๕. ประดับกระจกแวว คือ การประดับกระจกตกแต่งในเกสรหรือไส้ลายสลัก ลายปูนปั้นต่างๆ เช่น หัวโขน ลายกระจัง แท่นฐาน เป็นต้น

 

เครื่องมือของช่างประดับกระจก

       ๑. เพชรตัดกระจก สำหรับตัดกระจกแบ่งออกเป็นชิ้น ๆ มีประมาณ ๒ ชนิด

          ๑.๑ เพชรด้ามทองเหลือง เรียกว่า เพชรเขี้ยวงู

          ๑.๒ เพชรด้ามไม้เรียกว่า เพชรจีน หรือเพชรฝรั่ง ใช้คู่กับไม้โปร โดยวางกระจกช้อนกันหลายๆ แผ่น กันกระจกแตกขณะตัดเนื่องจากกระจกมีความโค้ง

       ๒. สว่านเจาะกระจก นำดอกสว่านมาเจียรให้ปลายแหลม แล้วประกอบเข้ากับด้ามไม้ (สำหรับตัดกระจก และตัดกระจกรูปทรงอิสระได้)

       ๓. กระดาษกร๊าฟ สำหรับกำหนดขนาดต่างๆเพื่อวัดตัดกระจก

       ๔. ไม้โปร สำหรับทาบตัด ใช้ร่วมกับการวัดขนาดบนกระดาษกร๊าฟ

       ๕. กรรไกรเล็ก สำหรับตัดแต่งกระจกให้เป็นรูปทรงกลม หยดน้ำ ฯลฯ (ต้องเจียรคมกรรไกรทั้งสองข้างก่อนใช้งาน)

       ๖. ไม้ไผ่เหลาติดขี้ผึ้งที่ปลาย สำหรับแตะชิ้นกระจก ที่ตัดเตรียมไว้มาวางลงบนชิ้นงานให้เป็นลวดลายตามที่กำหนด

       ๗. เกรียงปาดสีน้ำมัน เบอร์ ๑๐ สำหรับผสมอีพอกซี่และช่วยเกลี่ยอีพอกซี่ให้เรียบและเสมอกันก่อน ทำการประดับกระจกให้เป็นลวดลายที่กำหนดต่อไป

       ๘. เกรียงโป๊ว ขนาดต่างๆ สำหรับผสมสมุกหรือวัสดุทดแทน

 

วัสดุที่ใช้สำหรับเป็นตัวประสานในงานช่างประดับกระจก

       ๑.รักสมุก คือผงถ่านใบตอง ผงถ่านกะลา ผงดินเผา ผงอิฐบดละเอียดกรองด้วยผ้าขาวบาง นำมาผสมรักน้ำเกลี้ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง (อัตราส่วนโดยประมาณยางรัก ๑ ส่วน ต่อสมุก ๓ ส่วน) โดยการใช้รักรองพื้นลงบนวัตถุนั้นๆก่อน แล้วลงรักสมุกให้หนาพอสมควร จากนั้นจึงทารักน้ำเกลี้ยงเพื่อให้เหนียวติดกระจกได้ จึงทำการประดับกระจก การประดับกระจกด้วยรักสมุก (เหมาะสำหรับงานซ่อมแซมบูรณะในปัจจุบัน) 

       ๒. ชัน ผสมน้ำมันยางใส่ปูนแดงเล็กน้อยคนให้เหนียว เหมาะสำหรับประดับกระจกวัตถุที่อยู่ภายในอาคารเพราะคุณสมบัติไม่ทนแดด ทนฝน (ปูนแดงทำให้ชันน้ำมันยางแข็งตัว)

       ๓. อีพอกซี่ AB คือกาว ๒ ชนิดผสมกันในอัตราส่วน ๑:๑ นิยมใช้ประดับกระจกในปัจจุบันเหมาะสำหรับวัตถุที่อยู่ภายนอกและภายในอาคาร 

       ๔. ปูนขาว กรองจนละเอียด โขลกคลุกเคล้ากับน้ำมันตั้งอิ๊วจนเหนียว ทาพื้นแล้วประดับกระจกสีต่างๆ (เหมาะสำหรับประดับกระจกผนังปูน)