ปรับขนาดอักษร
  • เกี่ยวกับเรา

ประวัติ บทบาทหน้าที่ และบุคลากร

   
          หอสมุดแห่งชาติปัจจุบันของไทย สถาปนาขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระมหากษัตราธิราชในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยการรวมหอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธสาสนสังคหะเข้าด้วยกัน ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชโองการประกาศจัดการ หอพระสมุดวชิรญาณ ให้เป็น หอสมุดสำหรับพระนคร เมื่อ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ และได้วิวัฒนาการเป็นสำนักหอสมุดแห่งชาติปัจจุบัน
          หอพระสมุดวชิรญาณ เดิมตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่ข้างนอกประตูพิมานไชยศรี คือศาลาสหทัยสมาคม แต่การบริหารและการให้บริการของหอพระสมุดเป็นสมาคม และเป็นสโมสรสำหรับสมาชิกเท่านั้น ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปได้เสด็จทอดพระเนตรกิจการหอสมุดแห่งชาติอังกฤษและหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร มีพระราชดำริว่า หอพระสมุดวชิรญาณที่ทรงร่วมกันจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล แม้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในทางวิชาการความรู้ยังไม่กว้างขวาง เพราะส่วนมากเป็นสมาชิกและอยู่ในวงแคบ หากขยายกิจการหอพระสมุดออกไปให้เป็น หอสมุดสำหรับพระนคร เพื่อพสกนิกรจะได้แสวงหา ประโยชน์ต่างๆจะได้จากการอ่านหนังสือ คงจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นสมตามพระราชประสงค์ที่จะทรงเฉลิมพระเกียรติยศสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นหอสมุดสำหรับพระนครขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๔๘ และพระราชทานนามว่า หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ตามพระสมณนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มาไว้ที่ ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุซึ่งเรียกว่าตึกถาวรวัตถุ และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๕๙
         กิจการของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับได้มีการรวบรวมหนังสืออันมีค่ายิ่งของประเทศไว้ได้เป็นจำนวนมาก และยังได้วางรากฐานการจัดห้องสมุดตามมาตรฐานสากลหลายประการ เช่น การจัดหมวดหมู่หนังสือ ทำบัตรรายการค้นหนังสือ ทำบรรณานุกรม และการจัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณค่าต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้น
          ใน ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯให้แยกหอพระสมุด วชิรญาณสำหรับพระนครออกเป็น ๒ หอ คือ หอพระสมุดวชิราวุธ ตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิมให้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์และ หอพระสมุดวชิรญาณ ให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม

          ปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ รัฐบาลจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นและมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร มีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากรเรียกว่า กองหอสมุดและได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นหอสมุดแห่งชาติในเวลาต่อมา หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนากิจการเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับมี ผู้ใช้บริการจำนวนมากจนถึง พุทธศักราช ๒๕๐๕ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารทรงไทย สูง ๕ ชั้นขึ้น ที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นอาคารทรงไทย ๕ ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ ๑๗ ไร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

         หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรีเกิดขึ้นจากดำริของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประสงค์จะให้มีการจัดตั้หอสมุดแห่งชาติประจำภาคตะวันออกขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสดุดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองปีรัชมังคลาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๑  จึงได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ ๑ จังหวัดจันทบุรี รวมทั้งหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการวางแนวนโยบายจัดหาทุนในการก่อสร้างอาคารหอสมุดฯ และกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ จัดทำโครงการ ออกแบบอาคาร ควบคุมการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ และรับผิดชอบดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกจันทบุรี”

         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดอาคารหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ในวันพฤหัสที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๓

         อาคารหอสมุดฯ มีลักษณะแบบทรงไทยประยุกต์ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง ๗๕ เมตร ยาว ๗๖ เมตร เป็นอาคาร ๒ ชั้น ๔ หลังเชื่อมติดกัน โดยมีที่ว่างตรงกลางจัดเป็นสวน รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๒,๕๕๓ ตารางเมตร และมีเนื้อที่ทั้งหมด ๒ ไร่ ๖๔ ตารางวา

         เดิมหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักหอสมุดแห่งชาติ แต่มาวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ กรมศิลปากรได้ปรับปรุงโครงสร้างของกรมใหม่ ให้หอสมุดแห่งชาติฯ จันทบุรี ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ภารกิจหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติฯ จันทบุรี

      1.จัดทำคู่มือการดำเนินงานวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

       2.คัด ถ่ายถอด จัดทำคำอ่าน แปล เอกสารโบราณตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ในเอกสารโบราณ

       3.จัดหา รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารโบราณ

       4.ดำเนินงานด้านเทคนิควิชาการบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ตามมาตรฐานสากลได้แก่ การลงทะเบียน วิเคราะห์หมวดหมู่และทำบัตรรายการขัอมูล เพื่อการสืบค้น ทั้งที่ได้รับจากส่วนกลางและหน่วยงานจัดหาเอง

       5.ดำเนินงานด้านซ่อมและสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภท

       6.บริการทรัพยากรสารสนเทศโดยให้บริการการอ่าน ศึกษา ค้นคว้า วิจัยแก่ประชาชนและหน่วยงาน

       7.จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์

       8.ให้คำแนะนำ ปรึกษา และฝึกอบรมความรู้ด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ แก่บุคลากร/หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

       9.ให้คำแนะนำ ปรึกษา ในการจัดตั้งห้องสมุด/การจัดห้องสมุด ให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

     10.ติดต่อประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติในการสำรวจและรวบรวมเอกสารโบราณในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

      11.ติดต่อประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติเพื่อขอหมายเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ(ISBN) และเลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร(ISSN) ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

      12.ติดต่อประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติในด้านการให้ความรู้ ตามมาตรฐานวิชาการบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

      13.จัดอบรมเครือข่ายให้ความรู้ด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ รวมทั้งการอนุรักษ์เอกสารในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

      14.ปฎิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในองค์กร ได้แก่ งานธุรการ งานบุคลากร งานการเงิน พัสดุ และอาคารสถานที่