ปรับขนาดอักษร
  • เกี่ยวกับเรา

ประวัติ

           หอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวม สงวนรักษา และอนุรักษ์มรดกทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาการ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมของชาติ ในรูปของเอกสารโบราณ ได้แก่ จารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้บริการความรู้และข่าวสารแก่คนในชาติ มีทรัพยากรสารสนเทศ ให้บริการการอ่าน ศึกษาค้นคว้า โดยให้บริการแก่ผู้ใช้ทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยไม่มีขีดจำกัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

          หอสมุดแห่งชาติ มีประวัติการก่อตั้งและให้บริการมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเริ่มมาจากการรวม หอสมุดหลวง ๓ แห่ง สถาปนาขึ้นเป็น “หอพระสมุดสำหรับพระนคร” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๘  และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อ ๆ มาโดยตลอด มีการรวบรวมหนังสืออันมีค่าเป็นอย่างยิ่งของชาติ ตลอดจนสมบัติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เป็นคลังสิ่งพิมพ์ของชาติไว้เป็นจำนวนมาก จวบจนปีพุทธศักราช ๒๔๗๖  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้น และมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรและเปลี่ยนเป็น “หอสมุดแห่งชาติ” ในเวลาต่อมา มีการพัฒนาบริการให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับและได้ย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ ณ บริเวณถนนสามเสน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๙  ปัจจุบันสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม

ประวัติความเป็นมาของหอสมุดแห่งชาติ (Brief History)

          พ.ศ.๒๔๔๘       รัชกาลที่ ๕  โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” โดยรวมหอพระสมุดหลวง ๓ แห่ง เข้าด้วยกัน

ตึกศาลาสหทัยสมาคม

 

          พ.ศ.๒๔๕๙       รัชกาลที่ ๖  โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดจากในพระบรมมหาราชวังออกมายังอาคารถาวรวัตถุ หน้าวัดมหาธาตุ

ตึกถาวรวัตถุ

 

          พ.ศ.๒๔๖๘       รัชกาลที่ ๗  โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการบริการหนังสือตัวพิมพ์ทั้งหมดไว้บริการ ณ อาคารถาวรวัตถุและเปลี่ยนชื่อเป็น “หอพระสมุดวชิราวุธ” ย้ายต้นฉบับเอกสารโบราณและตู้ลายทองไปให้บริการ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมานและโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า “หอพระสมุดวชิรญาณ”

 

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

 

หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร

 

          พ.ศ.๒๔๗๖       อยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร มีฐานะเป็น “กองหอสมุด”

          พ.ศ.๒๔๙๐       ก่อตั้ง “หอพระสมุดดำรงราชานุภาพ” ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ย้ายที่ทำการไปสร้างใหม่บริเวณ วังวรดิศ ถนนหลานหลวง

         พ.ศ.๒๕๐๙       ย้ายหอสมุดแห่งชาติมาอยู่ที่ ถนนสามเสน

หอสมุดแห่งชาติปัจจุบัน

 

          พ.ศ.๒๕๑๐       จัดตั้ง “หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและจัดแสดงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ ๕ ที่อาคารถาวรวัตถุ

          พ.ศ.๒๕๒๒       ตั้ง “ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์” ในบริเวณเดียวกับอาคารถาวรวัตถุ ปัจจุบันได้รื้อถอนไปแล้ว

          พ.ศ.๒๕๒๔       สร้างอาคาร “หอวชิราวุธานุสรณ์” เก็บรักษาบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง “พระบรมราชะประทรรศนีย์” และ ”ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตย

          พ.ศ.๒๕๓๓       เปิดอาคาร “หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”

          พ.ศ.๒๕๓๗       เปิดบริการ “ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร”

          พ.ศ.๒๕๔๐       เปิดบริการ “หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙”

          พ.ศ.๒๕๔๒       เปิดบริการ “หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ”

          พ.ศ.๒๕๑๕ – ปัจจุบัน เปิดหอสมุดแห่งชาติ ในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ๑๑ แห่ง