ปรับขนาดอักษร
  • ประชาสัมพันธ์

ชาวสหรัฐอเมริกามอบโบราณวัตถุ(หนังใหญ่) ๓๐ รายการคืนสู่ประเทศไทย

 ชาวสหรัฐอเมริกามอบโบราณวัตถุ(หนังใหญ่) ๓๐ รายการคืนสู่ประเทศไทย

 

                    หนังใหญ่ทำจากผืนหนังโค หรือหนังวัว ฉลุภาพตัวละครตามเรื่อง หรือนิยายที่เล่น เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา  วิธีเล่น ใช้ยกจอรับเงาตัวหนังที่เชิดขึ้นหน้าไฟในเวลากลางคืน จัดเป็นมหรสพหรือการละเล่นชั้นสูงของไทย นิยมใช้แสดงในงานพระราชพิธี และงานสมโภชต่างๆของราชสำนัก สันนิษฐานว่ามีมาแล้วแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สืบทอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ฝีมือช่างสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ถือว่าเป็นหนังใหญ่ชุดงามที่สุด รวมทั้งหนังใหญ่จำนวนมากที่สร้างด้วยฝีมืออาจารย์ฤทธิ์ นายช่างใหญ่คนสำคัญแห่งเมืองเพชรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ ๓  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ หนังใหญ่ใช้แสดงเฉพาะงานพระศพเจ้านาย จนในที่สุดการสร้างและการละเล่นหนังใหญ่ก็ไม่เป็นที่นิยมในสังคมไทย

การรับมอบ

                   ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ชาวสหรัฐอเมริกา ชื่อ Dr.Sarah M Bekker พร้อมสามี Dr.Konrad Bekker มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี แจ้งความประสงค์  ขอมอบโบราณวัตถุให้กับรัฐบาลไทย คือหนังใหญ่จำนวน ๓๐ รายการ ซึ่งรับซื้อต่อมาจากชาวเยอรมันชื่อนาง Irmgard Eisenhofer ภรรยาของนาย Emil Eisenhofer ผู้ซื้อมาจากนักเชิดหนังชาวไทยเมื่อ     พ.ศ. ๒๔๕๓ ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๖ โดยหนังใหญ่ชุดนี้เคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เครื่องหนังเยอรมัน (The German Leather Museum) ที่ Offenbach, Main เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ ทางสถานทูตฯ จึงแจ้งเรื่องดังกล่าวผ่านกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ มายังกรมศิลปากร เพื่อให้พิจารณาว่าสมควรรับเข้าเป็นสมบัติของชาติหรือไม่ ซึ่งกรมศิลปากรเห็นสมควรรับมอบไว้ เพราะมีคุณค่า ความสำคัญด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรม

                   ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ กรมศิลปากร ขอความอนุเคราะห์ให้สถานเอกอัครราชทูตไทย      ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นผู้แทนรับมอบหนังใหญ่ทั้ง ๓๐ รายการ และช่วยดำเนินการจัดส่งคืนมายังประเทศไทยทางเรือ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบรรจุหีบห่อและขนส่ง ต่อมากรมศิลปากรมอบหมายให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการรับหนังใหญ่จากด่านศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพ เข้ามาเก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

คุณค่าความสำคัญ

                   หนังใหญ่ทั้ง ๓๐ รายการ มีขนาดแตกต่างกัน  ขนาดใหญ่ กว้าง

๑๒๐- ๑๕๐ เซนติเมตร สูง ๑๕๐- ๑๗๕ เซนติเมตร จำนวน ๑๓ รายการ  ขนาดกลาง

กว้าง ๙๐- ๑๒๕ เซนติเมตร สูง ๘๕- ๑๔๐ เซนติเมตร จำนวน ๗ รายการ และขนาดเล็ก

กว้าง ๔๐- ๗๕ เซนติเมตร สูง ๗๐- ๑๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑๐ รายการ ส่วนใหญ่เป็นตัวภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ประกอบด้วย

          หนังจับ           (หนังที่มีภาพในตัวเรื่องตั้งแต่ ๒ ตัวขึ้นไป ทำท่ารบหรือจับกัน)

          หนังคเนจร       (หนังภาพเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าเดิน)

          หนังง่า            (หนังภาพเดี่ยว หน้าเสี้ยว ทำท่าเหาะ คือยกขาข้างใดข้างหนึ่ง)

          หนังเมือง         (หนังที่ประกอบด้วยภาพอาคาร เช่น ปราสาท ราชวัง วิมาน พลับพลา

ที่มีตัวละครอยู่ในนั้น)

หนังเบ็ดเตล็ด     (หนังอื่นๆ เช่น ตัวตลก สัตว์ต่างๆในเรื่อง)

จัดเป็นโบราณวัตถุ ศิลปะรัตนโกสินทร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔- ๒๕ หนังใหญ่เกือบ ๑๐ รายการในหนังชุดนี้ ทำขึ้นด้วยฝีมือประณีตงดงามยิ่ง คล้ายคลึงกับหนังใหญ่ชุดพระนครไหว และแม้ว่าทั้งหมดจะมีสภาพชำรุด ตัวหนังบิดงอ และฉีกขาดตามกาลเวลา แต่คุณค่าความสำคัญโดยเฉพาะด้านศิลปกรรมยังคงอยู่ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

 

กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ

สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร