ปรับขนาดอักษร
  • บริการ

เครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างความปรองดองในท้องถิ่น

 

เครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างความปรองดองในท้องถิ่น

วสันต์ เทพสุริยานนท์

สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี

ความนำ

            โครงการเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร เริ่มดำเนินการขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยมอบหมายให้สำนักศิลปากรพื้นที่ซึ่งมีความพร้อมนำไปดำเนินการ เพื่อแสวงหาแนวทางการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมกับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ อันจะนำมาสู่เครือข่ายการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติที่เข้มแข็ง ซึ่งสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ได้เห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าวและนำมาสู่การปฏิบัติร่วมกับชุมชนท้องถิ่นใน ๒ พื้นที่แหล่งโบราณคดีที่สำคัญต่อเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน ได้แก่ แหล่งโบราณคดีดอนไร่ ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และ แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ภายใต้ชื่อโครงการร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งฝังศพระยะก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในพื้นที่ตอนบนจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ตอนล่างจังหวัดมุกดาหาร

ความสำคัญของพื้นที่

            ๑.แหล่งโบราณคดีดอนไร่ ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งฝังศพของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคโลหะแบบสังคมเกษตรกรรม อายุประมาณ ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบหลักฐานการทำศพครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ซึ่งวางเรียงกันเป็นกลุ่มตามเนินดินธรรมชาติโดยมีการใส่เครื่องอุทิศประเภทเครื่องใช้และเครื่องประดับมีค่าต่างๆร่วมในภาชนะใส่ศพด้วย แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้ได้รับการค้นพบ อนุรักษ์และปกป้องร่วมกันโดยคนในชุมชน โดยมีพระอาจารย์คารม โอภาโส เจ้าอาวาสวัดภูถ้ำพระศิลาทอง เป็นแกนนำในการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้

             ๒.แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร พบว่ามีการใช้พื้นที่แบ่งออกเป็นหลายส่วน ทั้งการทำศพ การทำโลหะกรรมและที่อยู่อาศัย กำหนดอายุอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายยุคโลหะแบบสังคมเกษตรกรรม อายุประมาณ ๒,๕๐๐-๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว สิ่งสำคัญที่พบ คือ ชิ้นส่วนหุ่นกลองมโหระทึกสำริด ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่า แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้เป็นแหล่งผลิตกลองมโหระทึกสำริด และเป็นแหล่งแรกและแหล่งเดียวในประเทศไทยที่พบหลักฐานการผลิตในปัจจุบัน แม้แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้จะมีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุออกไปจำหน่ายอย่างมากมาย แต่ก็มีคนในชุมชนบางส่วนที่มีความต้องการจะอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวไว้โดยมี พระอธิการธานินทร์ วิสุทธิสาโร เจ้าอาวาสวัดนาอุดมวนาราม เป็นแกนนำในการรวบรวมหลักฐานเพื่อการอนุรักษ์

แนวคิดและวิธีการ

              ๑.แนวคิด ผู้ดำเนินโครงการฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หลักการมีส่วนร่วมในงานพัฒนา คือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทุน ร่วมปฏิบัติ และร่วมรับผลที่เกิดขึ้น แนวคิดชุมชนร่วมรัฐในงานวัฒนธรรม แนวคิดเครือข่ายทางสังคมศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานทั้ง ๒ พื้นที่แหล่งดังกล่าว

              ๒.วิธีการ การขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ได้ประยุกต์การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีด้วยวิธีการต่างๆมาดำเนินการร่วมกับชุมชน เช่น การร่วมกันสำรวจ การร่วมกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชน การร่วมกันขุดค้นแหล่งโบราณคดี เป็นต้น ซึ่งทุกกิจกรรมเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยมีชุมชนเป็นผู้ออกแรง สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ออกวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

ผลผลิตและผลลัพธ์(Out Put and Out Come)

            ๑.เกิดกลุ่มเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นร่วมกับสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี กรมศิลปากร และเป็นตัวอย่างการอนุรักษ์ให้กับชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียงที่สนใจ อยากร่วมกันอนุรักษ์หลักฐานทางมรดกวัฒนธรรมไว้ในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง

            ๒.เกิดพิพิธภัณฑ์ชุมชนประจำแหล่งโบราณคดี เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีไม่ให้สูญหายออกไปจากพื้นที่ และเป็นตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ก่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ทุกคนร่วมกันภาคภูมิใจรวมทั้งช่วยบรรเทาขบวนการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุออกไปจำหน่ายนอกพื้นที่ให้ลดน้อยลงด้วย

ความสอดคล้องกับนโยบายตามแผนปรองดองแห่งชาติ

            ๑.ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ การน้อมนำพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานตามโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

            -เข้าใจ  หมายถึง (๑) การเข้าใจตนเองและหน่วยงาน (๒) การเข้าใจคนในท้องถิ่นและวิถีวัฒนธรรมชุมชน

            -เข้าถึง หมายถึง (๑)เข้าถึงชุมชนด้วยการสร้างความไว้วางใจได้ (๒)เข้าถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมด้วยการเข้าถึงแหล่งและเข้าถึงความรู้ที่เกี่ยวข้อง

            -พัฒนา หมายถึง การพัฒนาคนให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งวัฒนธรรมได้ร่วมกัน

            ๒. วัฒนธรรมประชาธิปไตย คือ การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทุน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผลที่เกิดขึ้น ในการดำเนินงานแต่ละกิจกรรมด้วยรูปแบบการประชุมระดมความคิดเห็น ปรึกษาหารือและใช้ฉันทามติหรือมติเสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชน การจัดค่ายโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ชุมชน การร่วมด้วยช่วยกันขุดค้นทางโบราณคดี เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำงานตามแนวทางประชาธิปไตย

           ๓. การปฏิรูปประเทศไทย โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม คือ การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ พึ่งกันเองได้ ในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรม บนวิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น เช่น การเกิดกลุ่มเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น การเกิดกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

อ้างอิง

          วสันต์ เทพสุริยานนท์. ชุมชนร่วมรัฐ :กระบวนการเสริมสร้างเครือข่ายมรดกศิลปวัฒนธรรมบ้านหมอสอ จังหวัดกาญจนบุรี. สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร, ๒๕๕๒

       สุกัญญา เบาเนิด และ วสันต์ เทพสุริยานนท์. ร่วมด้วยช่วยกัน อนุรักษ์และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรม ตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี กรมศิลปากร, ๒๕๕๓.

          สายันต์ ไพรชาญจิตร์. ๑๐ ปีโบราณคดีชุมชน. กรุงเทพฯ:โครงการโบราณคดีชุมชน, ๒๕๕๓.

          สายันต์ ไพรชาญจิตร์. โบราณคดีชุมชน:การจัดการอดีตของชาวบ้านกับการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพฯ:โครงการโบราณคดีชุมชน, ๒๕๔๖.