ข้อชี้แจงเรื่องการบูรณะถ้ำเขาหลวงจังหวัดเพชรบุรี

ข้อชี้แจงเรื่องการบูรณะถ้ำเขาหลวงจังหวัดเพชรบุรี

 

สาระสำคัญ :
นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีจังหวัดเพชรบุรีนำโดยศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ไปสำรวจการบูรณะถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี ของกรมศิลปากรซึ่งจ้างบริษัทเอกชนในวงเงิน 16 ล้านบาทเศษ พบว่ามีการรื้อพื้นผิวซึ่งทำด้วยอิฐโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 
แล้วปูอิฐใหม่ทำให้เสียคุณค่าความเป็นโบราณสถานที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยเห็นว่าควรเลือกซ่อมเฉพาะส่วนที่ชำรุดเท่านั้น ทั้งนี้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลและได้ร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่มีการแก้ไข
 
ผู้ชี้แจง : กระทรวงวัฒนธรรม (กรมศิลปากร)
ระยะเวลาชี้แจง 1 วัน

 

ที่มาข่าว : ไทยรัฐทีวี
 
 
ข้าพเจ้านายอนันต์ ชูโชติ/อธิบดีกรมศิลปากร/กระทรวงวัฒนธรรม/ขอชี้แจงประเด็นการบูรณะถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี สาระสำคัญดังนี้
 1 กรมศิลปากรได้มอบให้นายสุวิทย์ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พร้อมด้วยนายณัฐพล ระดาฤทธิ์ นายช่างผู้ควบคุมงานบูรณะ นายจมร ปรปักษ์บรรลัย สถาปนิกชำนาญการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าตรวจงานบูรณะถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี และพบปะพูดคุยชี้แจงกับกลุ่มผู้ร้องเรียน นำโดยนายธานินทร์ ชื่นใจ ช่างลายรดน้ำเมืองเพชรบุรี และคณะ โดยมีนายกเทศมนตรีตำบลธงชัยนายประหยัด   แสงหิรัญและเจ้าหน้าที่จากประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบุรี ร่วมด้วย
2.  การดำเนินการบูรณะถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพรชบุรี ในส่วนของอิฐที่มีการรื้อถอนนั้นนั้นเป็นอิฐที่เกิดจากการขุดแต่งทางโบราณคดี และอิฐที่ชำรุดเปื่อยยุ่ย และมีความชื้นสูงที่ต้องถอดออกเพื่อซ่อมเปลี่ยน ตามหลักการบูรณะโดยทั่วไป ซึ่งได้ทำการชี้แจงให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจ   และยอมรับในหลักการบูรณะที่ดำเนินการอยู่เรียบร้อยแล้ว
3. ประเด็นที่ผู้ร้องเรียนแสดงข้อห่วงใยเกรงว่าในการบูรณะจะมีการซ่อมเปลี่ยนกระเบื้องดินเผาปูพื้นเดิม ซึ่งเป็นของสมัยรัชกาลที่4-รัชกาลที่ 5 ทิ้งทั้งหมดนั้น เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างผู้ร้องเรียนกับช่างผู้ปฏิบัติงาน ข้อเท็จจริงคือพื้นกระเบื้องของเดิมยังยังมิได้รื้อถอนแต่อย่างใด ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจจัดทำแผนผังรายละเอียดการซ่อมเปลี่ยนเสนอขออนุมัติคณะกรรมการตรวจการจ้าง ทั้งนี้ได้ชี้แจงกับกลุ่มตัวแทนผู้ร้องเรียนว่ากระเบื้องปูพื้นเดิมบางส่วนอาจจะต้องเปลี่ยน เพราะเห็นว่ามีการแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และมีการปรับพื้นที่ทรุดเอียงของพื้นถ้ำ ทางผู้ร้องเรียนเข้าใจและพูดคุยถึงเทคนิควิธีการบูรณะซ่อมแซมกระเบื้องดินเผาที่แตกหักขอให้นำกระเบื้องเดิมมาใช้งานให้มากที่สุด
4.  กรมศิลปากร เชิญชวนให้ผู้ร้องเรียน(ซึ่งเป็นกลุ่มช่างเมืองเพชร) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณะซ่อมแซมพื้นกระเบื้องดินเผาโบราณดังกล่าว โดยผู้ร้องเรียนยินดีจัดหากลุ่มช่างเมืองเพชรมาช่วยดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานและทำความตกลงการดำเนินงาน
  กรมศิลปากรได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวทางเว๊บข่าวของกรมและช่องทางSocial Media เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว/ขอจบรายงาน