บูรณะ ๙ วัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๗๐ ปี

บูรณะ ๙ วัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในโอกาสมหามงคล ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๗๐ ปี

 

          เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ๗๐ปี๙มิถุนายน๒๕๕๙นับเป็นมหามงคลสมัยอันพิเศษยิ่งที่ปวงชนชาวไทยจะได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีถวายเป็นราชสักการะด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกและในประวัติศาสตร์ไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความผาสุกสมบูรณ์ของปวงอาณาประชาราษฎร์และชาติบ้านเมือง

          ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะวัดจำนวน๙วัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังนี้  

 

วัดราชนัดดารามวรวิหาร แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

          วัดราชนัดดารามวรวิหาร มีฐานะเป็นพระอารามชั้นตรี ชนิดวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ โลหะปราสาท เป็นโลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ ๓ ของโลก สร้างอยู่ในพื้นที่วัดราชนัดดาราม บริเวณลานพลับพลา มหาเจษฎาบดินทร์ ยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รูปแบบโลหะปราสาทมีลักษณะศิลปะแบบสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอด ๓๗ ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลาต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น ๖๗ ขั้น โลหะปราสาทภายในวัดราชนัดดาเป็นโลหะปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

 

วัดดุสิตารามวรวิหาร แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

          วัดดุสิตารามวรวิหาร เป็นวัดโบราณ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนาพระอารามนี้ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์พร้อมทั้งสร้างปูชนียสถานที่สำคัญเพิ่มเติมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับสั่งให้รวมวัดภุมรินราชปักษี ซึ่งมีพระภิกษุอาศัยอยู่เพียงรูปเดียวเข้ากับวัดดุสิตาราม ส่วนวัดน้อยทองอยู่ ได้รวมเข้ากับวัดดุสิตารามภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา อุโบสถและวิหารวัดภุมรินทราชปักษีเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า เป็นอาคารขนาดเล็ก ประดับลายปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑและมยุรารำแพนที่หน้าบัน กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตวัดดุสิตาราม ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๑ ตอนที่ ๘๒ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

 

วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

          เมื่อพิจารณาจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมโบราณสถานที่ปรากฏ โบราณวัตถุสำคัญๆ ในวัดแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่จะสร้างมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดฯ ให้เป็นอารามหลวง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และระวางแนวเขตโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๒๗ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๗

 

วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

          วัดไพชยนต์พลเสพราชวรวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกคลองลัดหลวง เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๓เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงสร้างขึ้น วัดนี้เดิมมีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น“วัดกรมศักดิ์” และ”วัดปากลัด” และเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดวังหน้า” ตามตำแหน่งของพระองค์

 

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

          วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชื่อว่าเป็นวัดศูนย์กลางเมืองโบราณจังหวัดสุพรรณบุรี มาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น ดังจะเห็นได้ว่าคตินิยมในการสร้างพระปรางค์เป็นเจดีย์ประธานของวัด รวมทั้งรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมขององค์พระปรางค์ ตลอดจนรูปแบบการวางแผนผังของวัด อีกทั้งเมื่อคราวขุดกรุองค์พระปรางค์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้พบจารึกลานทองหลายลานด้วยกัน ที่สำคัญคือจารึกที่กล่าวถึงกษัตริย์สองพระองค์ที่ทรงสร้างและทรงซ่อมองค์พระปรางค์ นอกจากองค์พระปรางค์ที่เป็นโบราณสถานสำคัญแล้ว ภายในบริเวณวัดยังประกอบไปด้วย เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม วิหาร อุโบสถ วิหารน้อย วิหารพระนอน ซากกาแพง ซากเจดีย์ราย เป็นต้น กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติแล้วในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอน ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

 

วัดศาลาปูนวรวิหาร ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          วัดศาลาปูน เดิมเป็นวัดราษฎร์และวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ได้กลายเป็นวัดร้าง ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้มีผู้บูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ และเรียกชื่อวัดว่า วัดโลกยสุธาวาส พระอารามหลวง จากนั้นมีการเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้ง จนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงเรียกว่า วัดศาลาปูน มาถึงทุกวันนี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดศาลาปูนเป็นโบราณสถานแห่งชาติไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๗ ต่อมาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๘ ตอนที่ ๑๖ วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

 

วัดปราสาท ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

          วัดปราสาท หรือเรียกอีกชื่อหนึ่ง“วัดผาสารท” ตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านประตูสวนดอก ภายในเขตกำแพงเมืองชั้นใน คำว่า “ปราสาท” ตามความหมาย คือ ที่ประทับของเจ้านายหรือขุนนางชั้นสูง คอยดูแลรักษาป้อมหอดูประตูค่าย เป็นวัดที่มีเจ้านาย และขุนนางเป็นผู้สร้าง โดยมีการสันนิษฐานว่าอาจมีการสร้างวัดแห่งนี้มาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระเจ้าเม็งราย วัดนี้มีความรุ่งเรืองควบคู่กับชาวเชียงใหม่มาแต่ครั้งยุคเริ่มแรก สิ่งที่น่าสนใจของวัดปราสาท อยู่ที่พระวิหาร ซึ่งมีลักษณะศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิม ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตวิหารวัดปราสาท ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๑๖๗ ลงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒

 

วัดโพธิ์ชัย ตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

          วัดโพธิ์ชัยนับเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของชุมชนบ้านหนองหนาว จากข้อความที่อยู่เหนือกรอบประตูอุโบสถระบุว่าสร้าง พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งนับเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนอาคารปริยัติธรรมระบุว่าสร้าง พ.ศ. ๒๔๙๓ นับเป็นเวลากว่า ๖๓ ปี ลักษณะอาคารสะท้อนอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกซึ่งเป็นแบบที่นิยมกันทั่วไปในพื้นที่สองฝากฝั่งแม่น้าโขงในช่วง ๖๐ - ๑๐๐ ปีมาแล้ว

 

วัดฉัททันต์สนาน ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

          วัดฉัททันต์สนาน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะต่างๆ มี อุโบสถกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๔ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๔๘๓ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ขณะนี้มีสภาพทรุดโทรม ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๐.๕ เมตร ยาว ๑๖.๕ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๔๘๙ โครงสร้างเป็นอาคารไม้ยกพื้น

วัดฉันทันต์สนานเดิมมีนามว่าวัดปลักช้างสร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๓๒โดยมีพ่อท่านแก้วเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นต่อมาประมาณพ.ศ. ๒๔๗๐ได้เปลี่ยนนามวัดมาเป็นวัดฉัททันต์สนาน