พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน ศุภวารกราบกรานพุทธบูชา วัสสวานร ๒๕๕๙

โครงการจัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ประจำปี ๒๕๕๙

“ไหว้พระวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน”

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๙

ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

๑.  พระพุทธสิหิงค์

แบบศิลปะ     สุโขทัย-ล้านนา ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑

ชนิด              สำริด  กะไหล่ทอง

ประวัติ           สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๘  ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

          พระพุทธสิหิงค์ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีพระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง สร้างขึ้นตามตำนานที่ปรากฏในนิทานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งแต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่         ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๔๕ –๑๙๘๕ พระพุทธสิหิงค์ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ หลายครั้ง

          แม้ตำนานจะกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ว่ามีความเก่าแก่และได้รับเคารพนับถือสืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. ๗๐๐ แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏน่าจะเป็นปั้น-หล่อขึ้นในช่วงปลายพุทธศววรรษที่ ๒๐-๒๑ (ประมาณ ๕๐๐ – ๖๐๐ ปีมาแล้ว) ในรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา การมีพระพุทธสิหิงค์ไว้เคารพบูชา ก็หมายถึงพระพุทธศาสนาได้เป็นที่เคารพบูชาในดินแดนแถบนั้น ดังความของพระโพธิรังสี กล่าวไว้ว่า "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ      ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่"

 

๒.  พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย

แบบศิลปะ              ล้านนา  พุทธศตวรรษที่ ๒๑ 

ชนิด                        สำริด ปิดทอง

ประวัติ                     ของหลวงพระราชทาน มาเมื่อวันที่  ๑๗  ธันวาคม ๒๔๖๙    

สถานที่เก็บรักษา   ห้องศิลปะล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย  ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ (ประมาณ ๕๐๐ ปีมาแล้ว) สร้างขึ้นตามคติเรื่องชมพูบดีสูตร หรือพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระยาชมพูบดี โดยทรงบันดาลพระเวฬุวันวิหารประดุจเมืองสวรรค์ และเนรมิตพระองค์ทรงเครื่องพระจักรพรรดิราช แสดงบุญญานุภาพเหนือพระยามหากษัตริย์ทั้งปวง เพื่อคลายทิฐิมานะแห่งพระยามหาชมพูกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพ และทรงแสดงธรรมจนกระทั่งพระยามหาชมพูสิ้นมานะ ขอบวชเป็นพระสาวกในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิจึงหมายถึงอำนาจ และธรรมอันเป็นแก่นสารยิ่งกว่าอำนาจแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย พระพุทธรูปทรงเครื่องยังอาจหมายถึงพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย พระอนาคตพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๕ ในภัททกัลป์ ที่จะมาบังเกิดเมื่อสิ้นสุดยุคของพระพุทธเจ้าโคตม 

 

๓.  พระชัยเมืองนครราชสีมา

แบบศิลปะ              ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐

ชนิด                       สำริด

ประวัติ                    ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย

สถานที่เก็บรักษา  ห้องศิลปะอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร                  

          พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ลักษณะแบบศิลปะอู่ทอง ๒ มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี ที่องค์พระโดยรอบ อาทิ คาถากาสลัก หัวใจพระรัตนตรัย และคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์ เป็นต้น “พระชัย” หรือ “พระไชย” นี้ เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่บรรพกาล ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา เพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ ใช้เชิญไปในกระบวนเสด็จฯ เพื่อประทับแรมนอกพระนคร และอัญเชิญตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เรียกว่า พระชัยพิธี สำหรับขจัดอุปสรรคต่างๆ และอำนวยพรให้พิธีกรรมสำเร็จผล

 

๔.  พระพุทธรูปปางประทานธรรม

แบบศิลปะ              ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒

ชนิด                       สำริด ปิดทอง

ประวัติ                    พบที่วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ย้าย มาจากอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน เมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๓

สถานที่เก็บรักษา  คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร     

          พระพุทธรูปปางประทานธรรม พระพุทธรูปสำริดลงรักปิดทองทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ซ้ายทรงกำด้ามตาลปัตรโลหะขนาดเล็กที่พระเพลา  พระหัตถ์ขวาทรงงอนิ้วพระหัตถ์จับขอบพัดด้านบนระดับพระอุระ           คติการถือตาลปัตรแสดงธรรมนั้นสันนิษฐานกันว่ารับจากการแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ของลังกา ตั้งแต่ราวราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙  - ต้น ๒๐ หรือไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ ปีมาแล้ว

พระพุทธรูปทรงตาลปัตรในศิลปะอยุธยาหลายองค์มีการประดับรูปจักรหรือธรรมจักรที่ฐาน   ซึ่งตามปกติแล้วพระพุทธรูปทรงตาลปัตรย่อมหมายถึงพระพุทธรูปในอิริยาบถทรงแสดงธรรม แต่การประดับธรรมจักรที่ฐานจึงทำให้คิดไปได้ว่าผู้สร้างต้องการแสดงว่าคือพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา พระบรมศาสดาทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไปหรือดำเนินไป คือการหมุนวงล้อ     แห่งธรรม เพื่อเผยแผ่พระศาสนา อันเป็นพุทธกิจสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์

 

๕. พระพุทธรูปปางลองหนาว

แบบศิลปะ      ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๒  ๒๓

ชนิด                สำริด

ประวัติ             พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน  เมื่อวันที่  ๑๗  ธันวาคม ๒๔๖๙

สถานที่เก็บรักษา  คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

          พระพุทธรูปปางลองหนาว  พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งทรงจีวรคลุมพระวรกายทดลองหนาว เพื่อจะได้ทรงทราบประมาณและประทานพระบรมพุทธานุญาตจีวรบริขารสำหรับภิกษุสงฆ์แต่พอดี  

          เหตุการณ์พระบรมศาสดาทรงจีวรคลุมพระวรกายเพื่อทดลองความหนาวนี้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค จีวรขันธกะ ได้ระบุว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จพระดำเนินจากนครราชคฤห์ไปนครเวสาลี  ระหว่างทางได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูปหอบผ้าพะรุงพะรัง  จึงทรงพระดำริว่าจะตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยทรงทดลองห่มจีวรคลุมพระวรกายตลอดราตรีในฤดูหนาว  ทรงจีวร ๔ ผืนพอทนหนาวได้จนรุ่งสาง พระพุทธองค์ทรงพระดำริว่า  “กุลบุตรในธรรมวินัยนี้   ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว  ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอ เราจะพึงกั้นเขต  ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย  เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร.”  ซึ่งไตรจีวร         ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์นั้น ได้แก่  ผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น  ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว  ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว

 

๖.  พระพุทธรูปปางฉันสมอ

แบบศิลปะ               ศิลปะรัตนโกสินทร์  พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ชนิด                        ทองเหลืองกะไหล่ทอง ลงยาสี

ประวัติ                     เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุไธสวรรย์มาแต่เดิม

สถานที่เก็บรักษาห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

           พระฉันสมอ  พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ  พระหัตถ์ซ้ายวางหงายระหว่างพระบาททั้งสองข้าง แม้ว่าผลสมอที่เคยประดับในพระหัตถ์จะหายไปแล้ว แต่การทรงจีวรที่มีอิทธิพลจีนนี้สามารถเทียบเคียงได้กับ พระฉันสมอ พระพุทธรูปสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเจ้าจอมน้อย (สุหรานากง) ไปประดิษฐานที่วัดอัปสรสวรรค์

          เหตุการณ์สัปดาห์ที่ ๗ ภายหลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้  พระพุทธองค์เสด็จมาประทับเสวยวิมุติสุขใต้ร่มไม้เกต (ราชายตนพฤกษ์) ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่าภายหลังจากที่สมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งขัดสมาธิอย่างเดียวตลอด ๗ วัน รุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘) จะทรงมีพุทธกิจรับข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน พระกระยาหารจากสองพ่อค้า ตปุสสะ และ ภัลลิกะ  พระอินทร์ “จึงทรงน้อมถวายผลสมอเป็นพระโอสถในเวลาอรุณขึ้น ณ วันที่ทรงออกจากสมาธิทีเดียว.  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยผลสมอพระโอสถนั้น  พอเสวยเสร็จเท่านั้น  ก็ได้มีกิจเนื่องด้วยพระสรีระ [ลงพระบังคนหนัก] ท้าวสักกะได้ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์แล้ว.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้วประทับนั่งที่โคนต้นไม้นั้นนั่นแล...”

จากเหตุการณ์นี้เอง พระพุทธรูปปางฉันสมอ จึงมีนัยสื่อถึงการรักษาโรคาพยาธิ เหตุด้วยผลสมอเป็นเภสัชที่ทรงมีพุทธานุญาตแก่ภิกษุสาวกที่อาพาธ  พระฉันสมอจึงบูชาเพื่อความปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

 

๗.  พระพุทธรูปปางโปรดมหิศรเทพบุตร

แบบศิลปะ              ศิลปะรัตนโกสินทร์  พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ชนิด                        ทองเหลืองรมดำ

ประวัติ                     สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สถานที่เก็บรักษา   ห้องศิลปะล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          พระพุทธรูปปางโปรดมหิศรเทพบุตร (พระศิวะ) สร้างตามคติพระพุทธองค์ทรงทรมานมหิศรเทพบุตร ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์สายโลกยศาสตร์ เช่น คัมภีร์โลกบัญญัติ คัมภีร์โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี และคัมภีร์ไตรโลกวินิจฉยกถา มีความกล่าวว่า มหิศรเทพบุตรมีความไม่พอใจที่เทวดาทั้งหลายไปนบนอบต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไปท้าประลองฤทธานุภาพด้วยการซ่อนหา มหิศรเทพบุตรแสดงฤทธิ์ซ่อนกายในที่ต่างๆ แต่ไม่อาจหลบซ่อนจากพระญาณของพระพุทธองค์ได้ ครั้นพระบรมศาสดาทรงแสดงฤทธิ์อันตรธานหายไป มหิศรเทพบุตรหาไม่พบ จึงยอมจำนน พระบรมศาสดาได้ตรัสเทศนาจนมหิศรเทพบุตรบรรลุธรรม ภายหลังพุทธปรินิพพาน มหิศรเทพบุตรได้เนรมิตพระพุทธปฏิมาเทินไว้เหนือเศียร อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาวิหารบนเขามันทคีรี มหิศรเทพบุตรจึงเป็นผู้ทรงพระพุทธองค์ไว้เหนือเศียรเกล้า

          พระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร ศิลปะรัตนโกสินทร์ องค์นี้มีความพิเศษตามปกติรูปพระมหิศรเทพบุตร (พระศิวะ) มักจะมีหลายกรและแสดงมหิทธานุภาพโดยถือเทพอาวุธต่างๆ แต่องค์นี้มีสองกร และโคนนทิพาหนะของพระมหิศรเทพบุตร ประดับไว้ที่ฐานซึ่งหล่อเป็นโขดเขา เพื่อแสดงความเป็นเทพที่สถิตอยู่เหนือภูเขา แต่สิ่งที่เหมือนกับพระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร องค์อื่นๆ ในศิลปะรัตนโกสินทร์ คือ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่เหนือเศียร แสดงชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อมหิศรเทพบุตร บูชาเพื่อขจัดมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิด

 

๘.  พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์

แบบศิลปะ               ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

ชนิด                        ทองเหลืองปิดทอง

ประวัติ                     สถานีตำรวจภูธรพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการยึดอายัด

สถานที่เก็บรักษา   คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติง จังหวัดปทุมธานี

          พระพุทธองค์ประทับบนแท่นศิลา มีช้างถวายกระบอกน้ำและลิงถวายรวงผึ้ง แสดงถึงอุเบกขาบารมีของพระพุทธองค์ เรื่องราวมีกล่าวถึงตอนหนึ่งในพุทธประวัติว่าหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๑๐ พรรษา ได้พำนักกับภิกษุที่โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี แต่เหล่าสงฆ์เกิดความแตกแยกกัน แม้จะทรงห้ามปรามหลายครั้งก็ยังไม่สามารถลดความบาดหมางได้ จึงทรงวางอุเบกขาออกไปหาความสงบ ณ ป่ารักขิตวัน โดยมีช้างปาลิไลยกะ เป็นผู้อุปัฏฐากคอยดูแลปัดกวาดที่ประทับด้วยกิ่งไม้ใบไม้หาน้ำและผลไม้ป่าต่างๆ มาถวายพระพุทธองค์ทุกวัน ยามค่ำคืนก็ใช้งวงนั้นถือท่อนไม้คอยระแวดระวังภัยมิให้ผู้ใดมากล้ำกราย

          วันหนึ่งมีพญาวานรผ่านมาและสังเกตเห็นว่า ช้างปาลิไลยกะได้ดูแลพระพุทธองค์อย่างดี จึงเกิดความเลื่อมใส พญาวานรจึงนำรวงผึ้งไปถวายพระพุทธองค์บ้าง ครั้งแรกทรงเฉยไม่รับรวงผึ้งนั้น พญาวานรพิจารณาดูจึงเห็นว่ายังมีตัวอ่อนของผึ้ง เมื่อได้ปัดตัวอ่อนนั้นไปเสีย พระพุทธองค์จึงรับรวงผึ้งนั้นไว้ ทำให้พญาวานรดีใจลิงโลดโหนไปตามยอดไม้จนพลัดตกลงมาถูกตอไม้แทงตาย แล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ด้วยผลบุญที่ได้กระทำไว้

 

๙.  พระพุทธรูปปางขอฝน

แบบศิลปะ              ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

ชนิด                        สำริด รมดำ

ประวัติ                     เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ถวาย พร้อมทั้งตู้

สถานที่เก็บรักษา    ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร                   

          พระพุทธปฏิมาปางขอฝน สำหรับใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พรุณศาสตร์) และงานพระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อันเอื้ออำนวยความอุดมสมบูรณ์แก่พระราชอาณาจักร และอาณาประชาราษฎร์  ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการสร้างพระพุทธรูปขอฝนหลายองค์เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธี พระพุทธรูปขอฝนในอิริยาบถยืนองค์นี้ แสดงถึงกระแสความนิยมทางศิลปกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากแบบอุดมคติ เป็นแบบสัจนิยม มีความเสมือนจริงตามธรรมชาติ อาทิ เกล้าพระเกศารวบขึ้นเป็นพระเมาลีและไม่มีพระรัศมี  ทรงครองผ้าอาบน้ำฝนบางแนบพระองค์และแสดงริ้วผ้าตามธรรมชาติ  นับเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญด้านศิลปกรรม และขนบประเพณี