สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

วันเสาร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย คุณสิริกิติยา มหิดล เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผู้บริหารข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในจังหวัดปทุมธานี เฝ้าฯ รับเสด็จ

คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่เดิมตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ต่อมากรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ปรับอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จำนวน ๒ หลัง ให้เป็นคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ปัจจุบันประสบปัญหาด้านโครงสร้างอาคารและพื้นที่จัดเก็บไม่เพียงพอกับจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เพิ่มขึ้น ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในพื้นที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้เป็นคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ทันสมัย สามารถเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างเป็นระบบตามมาตรฐาน ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมของวัตถุพิพิธภัณฑ์ และระบบรักษาความปลอดภัย สามารถจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้ไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ชิ้น พร้อมระบบฐานข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อการสืบค้นที่สะดวกและรวดเร็ว โดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างตัวอาคารเป็นเงิน ๔๖๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี (พุทธศักราช ๒๕๕๙ - ๒๕๖๑)

อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังใหม่ ออกแบบโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่พิเศษ มีระบบโครงสร้างทางวิศวกรรมแบบเสาและคาน (COLUMN AND BEAM) ผสมกับระบบพื้นรับแรงอัด (POST-TENSION) ความสูง ๔ ชั้น มีหลังคาคลุม รูปทรงของอาคารเป็นทรงไทยประยุกต์ ออกแบบโดยการนำเส้นสายในงานสถาปัตยกรรมไทย เข้ามาใช้เป็นกรอบด้านนอกของอาคาร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ไทยด้วยวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งการระบายอากาศที่ดี และความสามารถนำแสงธรรมชาติมาใช้ในอาคาร โดยมีพื้นที่ใช้สอย ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตร ประกอบด้วย ส่วนของการให้บริการ ส่วนปฏิบัติการด้านทะเบียนวัตถุ และส่วนห้องคลัง พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยและระบบป้องกันภัยทุกประเภท ทั้งนี้ อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จะเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้สำคัญอีกแห่งหนึ่งในการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย และเรียนรู้ด้านโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ที่มีความสมบูรณ์ และทันสมัย คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑