๗ มกราคม ๒๕๕๘ ร่วมน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี  พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๑ มีพระนามเดิมว่า  เจ้าฟ้าจุฑามณี  เป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้านตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงตั้งเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์  โปรดให้บังคับบัญชาทหารปืนใหญ่  ทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง  ว่าการกรมทหารญวนอาสารบ  แขกอาสา ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญและมีกำลังคนมาก  ทรงแปลและเรียบเรียงตำราปืนใหญ่  รวมทั้งอำนวยการฝึกหัดทหารปืนใหญ่ ทำให้กองทหารมีระเบียบวินัยแบบตะวันตก 

นอกจากนี้ ยังทรงใฝ่พระทัยในวิทยาการด้านจักรกล  และอาวุธยุทธภัณฑ์  ทรงวางแผนการสร้างเรือรบแบบทันสมัย  ทรงส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาต่อเรือที่ประเทศอังกฤษ  ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อติดต่อค้าขายกับเมืองจีน  เช่น  เรือพุทธอำนาจ  ราชฤทธ์  อุดมเดช  อาสาวดีรส  เป็นต้น  และทรงคิดสร้างเมืองชายทะเลให้เป็นเมืองเรือหรือเมืองป้อม  ใน พ.ศ. ๒๓๘๔ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระองค์เป็นแม่ทัพเรือ ไปตีเมืองบันทายมาศ  เพื่อปราบปรามญวน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์  ทรงเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี  แล้วพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร  มหิศเรศรังสรรค์  พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน  ด้วยความที่ทรงใฝ่พระทัยในวิทยาการตะวันตก  โปรดให้นำธรรมเนียมปฏิบัติแบบตะวันตกมาใช้หลายอย่าง  เช่น  โปรดให้ติดตั้งเสาธง เพื่อชักธงพระจุฑามณี  ออกแบบตราประจำพระองค์เป็นรูปพระปิ่น  สมอเรือ  และปืนใหญ่  แสดงถึงการที่ทรงบังคับบัญชาทั้งทหารเรือและทหารปืนใหญ่  ทรงสนพระทัยวิทยาศาสตร์แผนใหม่  โปรดให้หมอเฮ้าส์ เข้าเฝ้า เพื่อสอนวิธีทำแก๊สในพระราชวังบวรสถานมงคล  มีโรงกลั่นลมประทีป  นำสูบน้ำดับเพลิงมาใช้  โปรดการแก้นาฬิกาจนมีชื่อเสียงมาก ในด้านการปกครอง  แม้จะไม่ทรงมีหน้าที่โดยตรง  แต่พระองค์ก็โปรดการเสด็จประพาสหัวเมือง  โดยเฉพาะภาคอีสาน  โปรดให้สร้างพระตำหนักที่บ้านสีทา  จังหวัดสระบุรี

ส่วนพระองค์  โปรดกวีนิพนธ์  และการดนตรีมาก  มักเสด็จไปชุมนุมเล่นสักวาเป็นประจำ  ทรงประดิษฐ์เครื่องดนตรีอย่างใหม่ คือ ระนาดทุ้มเหล็ก  โดยทรงดัดแปลงจากหีบเพลงฝรั่ง  พระองค์โปรดแคน  ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอีสาน  โปรดการแต่งกลอนแอ่วลาว

เบื้องปลายพระชนม์ชีพ  พระองค์ประชวรเรื้อรังเป็นเวลาประมาณ ๕ ปี เสด็จสวรรคตในวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘  รวมพระชนมพรรษา ๕๘ พรรษา อยู่ในอุปราชาภิเษกสมบัติ ๑๕ ปี

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และบริเวณโรงละครแห่งชาติ เดิมเป็นพระราชวังบวรสถานมงคลอันเป็นที่ประทับของพระองค์ กรมศิลปากรร่วมกับชมรมกองทุนพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ณ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงละครแห่งชาติ ในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘ โดยจะมีการประกอบพิธีวางพวงมาลาสักการะสังเวย ในเวลา ๐๘.๐๐ น. และพิธีสงฆ์ ในเวลา ๑๐.๓๐ น. ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นอกจากนี้ ในเวลา ๑๖.๓๐ น. กรมศิลปากรได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภา – การแสดง ในงาน “ปี่พาทย์เสภาที่วังหน้า ครั้งที่ ๑๓” โดยวงดุริยางค์กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ วงสำนักวัฒนธรรม และวงสำนักการสังคีต ให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ บริเวณลานหน้าพระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงละครแห่งชาติ

ร่วมน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายสืบไป