รายงานผลการชี้แจงประเด็น ปัญหาระบบจ้างเหมาของกรมศิลปากร จากหัวข้อ บูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ

         ข้าพเจ้านายอนันต์  ชูโชติ / อธิบดีกรมศิลปากร / กระทรวงวัฒนธรรม / ขอรายงานผลการชี้แจงประเด็น ปัญหาระบบจ้างเหมาของกรมศิลปากร จากหัวข้อ “บูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ปัญหาและบทเรียนระดับชาติ
​สาระสำคัญการชี้แจง มีดังนี้
         ​๑. กรณีการจ้างเหมาเอกชนบูรณะโบราณสถาน กรมศิลปากรดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เห็นชอบกับมาตรการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐ และมติเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ เห็นชอบการจัดกลุ่มภารกิจของรัฐ, ภารกิจที่ควรให้ภาคเอกชนดำเนินการโดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔) ที่ได้กำหนดให้ปรับปรุงบทบาทการบริหารจัดการของส่วนราชการ ด้วยการลดบทบาทในทางกิจกรรมของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่บังคับให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ดำเนินการยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมต่อภาครัฐและเอกชน
          ​๒. การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจความเสียหายของวัดอรุณฯ ภายหลังเหตุอุทกภัย พ.ศ. ๒๕๕๔  พบว่ามีชิ้นส่วนประดับปรางค์ประธาน ปรางค์ประจำมุม และมณฑปประทิศ หลุดร่วงลงจากที่ตั้งจำนวนมาก พื้นดินอันเป็นที่ตั้งของโบราณสถานทรุด รวมทั้งผนังปูนฉาบและลวดลายประดับชำรุด เสื่อมสภาพอย่างมาก กรมศิลปากรจึงจัดทำโครงการบูรณะโบราณสถานวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยดำเนินการระหว่างพ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๖๐ โดยดำเนินการดังนี้
               ​๒.๑ สำรวจจัดทำรูปแบบเพื่อการบูรณะ และรายการประกอบแบบนำเสนอคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ความรู้ด้านโบราณคดีและการบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งนักวิชาการหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์พิจารณาแล้วจึงเสนออธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาอนุมัติรูปแบบ รายการ และประมาณราคา เพื่อใช้ดำเนินการต่อไป
               ​๒.๒ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างดำเนินการบูรณะโบราณสถานวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารตามรูปแบบรายการของกรมศิลปากร
               ​๒.๓ ผู้รับจ้างดำเนินการบูรณะโบราณสถานวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารตามรูปแบบรายการของกรมศิลปากร ภายใต้การกำกับและควบคุมงานของข้าราชการกรมศิลปากร โดยมีคณะกรรมการตรวจการจ้างประกอบด้วย ข้าราชการกรมศิลปากรในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักวิชาการอนุรักษ์ ภายใต้เงื่อนไขในสัญญาจ้าง
          ​๓. ในประเด็นของการตรวจสอบและการวิจัยกรมศิลปากรมีการสำรวจเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำรูปแบบรายการก่อนการบูรณะ ในขั้นตอนการบูรณะเมื่อมีการตั้งนั่งร้านเพื่อการบูรณะแล้วก็ให้มีจัดทำการบันทึกสภาพอย่างละเอียดโดยภาพถ่าย โดยการเขียนแบบ โดยการกระสวนลายเท่าจริง เพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการ และการปรับปรุงรูปแบบรายการเพื่อการบูรณะแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางวิชาการการอนุรักษ์โบราณสถาน ทั้งในเชิงโบราณคดี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม เป็นต้น
​         ๔. กรมศิลปากร ขอชี้แจงว่า การดำเนินการบูรณะโบราณสถานวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ดำเนินการตามรูปแบบรายการของกรมศิลปากร และเป็นไปตามระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มีการกำกับควบคุมงาน และการตรวจรับงาน โดยคณะกรรมการอย่างละเอียดรอบคอบและเคร่งครัด