พบศิลาจารึกสมัยทวารวดีหลักใหม่ ณ วัดพระงาม จังหวัดนครปฐม

 สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้รับจัดสรรงบประมาณจากกรมศิลปากร ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยมีเป้าหมายงานด้านโบราณคดี งานย้ายเจดีย์บรรจุอัฐิ และงานเสริมความมั่นคง การดำเนินงานขุดศึกษาทางด้านโบราณคดีพื้นที่เนินโบราณสถานวัดพระงาม เริ่มดำเนินการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน พบลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างจึงสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทสถูปสมัยทวารวดี สร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมยกเก็จหรือกระเปาะซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้น ขนาดสถูปประมาณ กว้าง x ยาว ๔๑.๕๐ เมตร

          จากการพิจารณาชุดฐานทั้งสามชั้นมีลักษณะทางด้านระเบียบที่อาจเปรียบได้กับชุดฐานของพระประโทณเจดีย์ ที่ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณนครปฐม นอกจากนี้บริเวณส่วนกลางถึงบริเวณส่วนสถูปด้านทิศเหนือมีสิ่งก่อสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์ ผลจากการศึกษาเบื้องต้นอาจกำหนดอายุการก่อสร้างโบราณสถานหรือสถูปวัดพระงาม อยู่ได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ และจัดเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ในสมัยทวารวดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในประเทศไทย

          เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ระหว่างการขุดศึกษาพื้นที่ด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถานวัดพระงาม บริเวณพื้นที่ N6E1 ติดกับฐานด้านนอกของแนวอิฐที่ก่อสร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป ได้พบศิลาจารึก สมัยทวารวดี จำนวน ๑ หลัก

          ลักษณะการพบศิลาจารึกวางตามยาวหงายด้านหน้าที่มีตัวอักษรขึ้นติดชิดกับขอบด้านนอกเกือบตรงตำแหน่งกึ่งกลางของแนวอิฐที่สร้างขนานกับฐานด้านทิศเหนือของสถูป แนวอิฐนี้สันนิษฐานว่าก่อสร้างขึ้นในระยะหลังเพื่อขยายฐานด้านทิศเหนือของสถูปให้กว้างขึ้น ศิลาจารึกที่พบมีลักษณะเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยหินสีเทาซึ่งต้องรอการตรวจสอบประเภทของหิน ขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๙๖ เซนติเมตร หนา ๑๔.๕๐ เซนติเมตร สภาพเกือบสมบูรณ์ พื้นผิวด้านหน้าบางส่วนแตกหลุดร่อนบริเวณส่วนขอบด้านขวาและขอบด้านล่าง พื้นผิวส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปรอยอักษรเต็มพื้นผิวด้านซ้ายของจารึก นอกจากนี้ยังพบส่วนที่แตกหลุดออกมาเป็นส่วนขนาดเล็กอีก ๑๐ ชิ้น รวมทั้งส่วนที่แตกหลุดร่อนออกมาเป็นชิ้นขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

          ต่อมาในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้เชิญนักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ จากกรมศิลปากร และผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นายเสน่ห์ มหาผล มาตรวจสอบศิลาจารึกดังกล่าว พบว่า ศิลาจารึกมีจารึกเพียงหนึ่งด้าน จำนวน ๖ แถว ซึ่งเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ มีข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า ทวารวตีวิภูติ เป็นเบื้องต้น จึงนับว่าเป็นจารึกที่เป็นข้อมูลใหม่ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดในจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน

          ศิลาจารึกดังกล่าวอยู่ในระหว่างรอการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้อ่านข้อความได้อย่างสมบูรณ์โดยได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม