ขอเชิญชมงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ - ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒

         ขอเชิญชมงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒
         กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายจากสำนักพระราชวัง ให้ดำเนินการจำลองและจัดสร้าง

"พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" ขนาด ๑ : ๒ (จากพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

       

 โครงสร้างอาคารเป็น เหล็ก ส่วนประดับตกแต่ง โดยรวม เป็นแผ่นพลาสวูด ฉลุเป็นเลเยอร์เครื่อง CNC ปิดทอง

(ยกเว้นตั้งแต่ชั้นบัวกลุ่มถึงปลียอด เป็นโลหะกลึง ปิดผิวด้วยทอง)

รวยระกา หน้าบัน ซุ้มสาหร่ายรวงผึ้ง คันทวย ฉลุเป็นเลเยอร์ด้วยเครื่อง CNC ปิดทอง

ภายใน ฝ้าทาสีแดงตกแต่งด้วยลายดาวเพดานฉลุปิดทอง พื้นปูด้วยพรมสีแดง

ชุดฐานอาคารเป็นไฟเบอร์กลาส ทาสีทอง ตกแตงลวดลายด้วยสติกเกอร์ชนิดวาว(แทนลวดลายประดับกระจก)

ตัวอาคาร วางบนน้ำล้น ๒ ชั้น รัศมีวงนอก ๑๕ เมตร (สระน้ำรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน) พร้อมจุดพ่นไอหมอกบริเวณเสาอาคารและบริเวณน้ำล้น

         พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งปราสาทโถงกลางน้ำ สร้างในแบบจตุรมุข พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบมาจาก พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" ตามนามพระที่นั่งองค์แรก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

"เรือพระราชพิธี" จำนวน ๔ ลำ

โดยให้สำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้จำลองและจัดสร้าง ประกอบด้วย

❖เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ขนาดยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๑.๖๐ เมตร

❖เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
ขนาดยาว ๒๖ เมตร กว้าง ๑.๘๐ เมตร

❖เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
ขนาดยาว ๒๔ เมตร กว้าง ๑.๕๐ เมตร

❖เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
ขนาดยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๑.๖๐ เมตร

 

๔ เรือพระที่นั่งสำคัญที่มีประวัติการก่อสร้าง การบูรณะซ่อมแซม และมีความงดงามยิ่ง

๑. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

          จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง คือ เรือพระที่นั่งลำดับชั้นสูงสุด สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ เรียกว่า “เรือพระที่นั่งทรง” ปรากฏหลักฐานการสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์”ลำปัจจุบันสร้างทดแทนเรือลำเดิม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) มาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” มีโขนเรือเป็นรูปหงส์ ซึ่งหมายถึงหงส์อันเป็นพาหนะของพระพรหมตามคติฮินดู ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเสมือนเครื่องหมายของความสง่างาม ที่ควรคู่กับพระมหากษัตริย์ การตกแต่งโขนเรือ ทำโดยการจำหลักลายปิดทองประดับกระจก ลำเรือด้านนอกทาสีดำ ภายในทาสีแดง ยาวตลอดลำเรือ ๔๖.๑๕ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๔ เมตร มีเจ้าพนักงานประจำเรือ ประกอบด้วย ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย

๒. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

          เป็นเรือพระที่นั่งลำแรก ที่สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรและสำนักพระราชวัง จัดสร้างขึ้น เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙

          เดิมนั้น โขนเรือพระที่นั่งรูปครุฑมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังที่ปัจจุบันนี้มีตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่มีหลักฐานที่เป็นเรือพระที่นั่งที่สร้างครั้งสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานนามว่า “เรือมงคลสุบรรณ”สันนิษฐานว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดให้สร้างรูปพระนารายณ์เพิ่มเติม และให้ประดิษฐานไว้บนหลังโขนเรือรูปครุฑดังกล่าว ปัจจุบันโขนเรือรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธีด้วย

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี มีโขนเรือเป็นรูปพระนารายณ์ ๔ กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ทรงยืนบนหลังพญาครุฑ สังคมไทยมีความเชื่อในคติสมมติเทพ ที่รับมาจากศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอวตารของพระวิษณุ จึงสอดคล้องกับการสร้างเป็นโขนเรือพระที่นั่ง  จำหลักจากไม้และตกแต่งด้วยวิธีลงรัก ปิดทองล่องชาดประดับกระจกสีน้ำเงิน ส่วนพื้นลำเรือทาสีแดงชาด ส่วนหัวและท้ายเรือ ประดับลายก้านขดกระหนกเทศ มีความยาวตลอดลำเรือ ๔๔.๓๐ เมตร กว้าง ๓.๒๐ เมตร กินน้ำลึก ๑.๑๐ เมตร เจ้าพนักงานประจำเรือ ประกอบด้วยฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย

๓. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

          สร้างครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๔ ) พระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช ต่อมาชำรุดเสื่อมโทรมไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างใหม่แทนลำเดิม และพระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช”จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ หรืออัญเชิญวัตถุสำคัญ เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง ซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียร สะท้อนถึงความเชื่อของสังคมไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ในฐานะทรงเป็นอวตารแห่งพระนารายณ์  เมื่อเสด็จประทับเรือพระที่นั่งลำนี้ เปรียบเสมือนพระนารายณ์ประทับเหนือพญาอนันตนาคราช ตกแต่งอย่างงดงามโดยปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีเขียว ภายในทาสีแดง ลำเรือยาว ๔๔.๘๕ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๔ เมตร พนักงานประจำเรือประกอบด้วย ฝีพาย ๕๔ นาย นายเรือ ๒ นาย

๔. เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

 

          เป็นเรือพระที่นั่งลำเดียวที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี ในลำดับชั้นรอง ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน ต่อมาภายหลังได้จัดเข้าในกระบวนพยุหยาตราชลมารค เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง มีโขนเรือทวนสูง จำหลักลายนาคเกี้ยวตลอดส่วนโขน ส่วนบนสลักรูปนาคจำแลง ๗ เศียรปิดทอง ลำเรือตกแต่งลายจำหลักนาคเกี้ยวตลอดทั้งลำเรือ ในลักษณะเกี่ยวกระหวัดนับร้อยนับพันตัว นอกจากจะแสดงถึงความเชื่อมโยงถึงพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อว่า นาค ผู้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในน้ำ และเป็นผู้พิทักษ์ผืนน้ำด้วย ส่วนลำเรือภายนอกทาสีชมภู ภายในทาสีแดง มีความยาว ๔๕.๖๗ เมตร กว้าง ๒.๙๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๑ เมตร เจ้าหน้าที่ประจำเรือประกอบด้วยฝีพาย ๖๐ นาย นายท้าย ๒ นาย