รายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จำนวน ๔ รายการ นำไปจัดแสดงนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๓๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เรื่อง “Thailand: Brilliant Land of the Buddha”

รายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จำนวน ๔ รายการ

นำไปจัดแสดงนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๓๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น

เรื่อง  “Thailand: Brilliant Land of the Buddha”

ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ระหว่างเดือนเมษายน – สิงหาคม ๒๕๖๐

 

พระพุทธรูปมีจารึก

 

๑.   พระพุทธรูปปางมารวิชัยมีจารึกที่ฐาน

สำริด สูง ๑๐๖ เซนติเมตร กว้าง ๘๐ เซนติเมตร

ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้จากวัดลาวลำพัน
พระราชประสิทธิคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานีและเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย อ.เมืองฯ จ.สุโขทัย มอบให้

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน ๓ ขา ลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งปลายงุ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์เรียวเล็กบาง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย รัศมีรูปเปลวเพลิง พระอังสากว้าง บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา สังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ตามรูปแบบพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ซึ่งนิยมสร้างในสมัยสุโขทัย ที่ฐานหน้ากระดานของพระพุทธรูปองค์นี้ยังมีจารึกที่กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (ตอนต้น) เรียกว่า “จารึกที่ฐานพระพุทธรูปสุโขทัย (นายญี่บุญ)” กล่าวถึงผู้สร้างพระพุทธรูป โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่อได้ผลบุญให้เกิดมาได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย ดังนี้ “พระเจ้า นายญี่บุญแลแม่จัน แลนางเริ่มนางไร แล้วเจ้าไสอานนท์ลูกชาย สายใจชื่อนางยอด ตูทั้งหลาย ขอพบพระศรีอาริยไมตรีเจ้าอั้น” อาจกล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยแบบหมวดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ แสดงเอกลักษณ์โดดเด่นของการหล่อสำริดศิลปะสุโขทัยฝีมือขั้นสูง

 

20150729170352DVaD

 

 

จารึกวัดสรศักดิ์ 460_02.jpg

 

 

๒.   ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ (ศิลาจารึกหลักที่ ๔๙)

หินชนวน สูง ๑๔๕ เซนติเมตร กว้าง ๑๐๓ เซนติเมตร ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐

พบที่ริมตระพังสอ ต.เมืองเก่า อ.เมืองฯ จ. สุโขทัย ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ 

ลักษณะเป็นรูปใบเสมาหินชนวน จารึกในปี พ.ศ. ๑๙๖๐ ด้านหนึ่งจารึกด้วยอักษรไทย สุโขทัย ภาษาไทย จำนวน ๓๕ บรรทัด สาระสำคัญกล่าวถึง นายอินทสรศักดิ์ขอพระราชทานที่ดินจากออกญาธรรมราชา เพื่อสร้างพระอารามถวายเป็นพระราชกุศล  นิมนต์พระมหาเถรธรรมไตรโลกมาจำพรรษา มีการสร้างมหาเจดีย์มีช้างรอบ ประกอบด้วยพระเจ้าหย่อนตีน พระวิหาร และหอพระ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงพิธีการเฉลิมฉลองวัด และการพระราชทานที่นาของหมู่บ้านต่างๆ ให้กับวัด (การกัลปนา)  ด้านที่ ๒ เป็นภาพลายเส้นรูปพระพุทธรูปลีลา ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระสาวก และเทวดาประนมมือขนาบข้าง ขอบสลักเป็นรูปนาค ส่วนฐานสลักเป็นลายกนก จารึกหลักนี้พบจากการขุดแต่งโบราณสถานบริเวณริมตระพังสอด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในเมืองโบราณสุโขทัย จึงเรียกโบราณสถานนี้ว่า “วัดสรศักดิ์” 

 

 

 

 

 

 

 

9999_0005.jpg

 

 

๓.   พระอัฐิธาตุเจดีย์ หรือพระเจดีย์ย่อส่วน

สำริดปิดทอง ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐  

สูง ๑๐๗ เซนติเมตร ได้จากวัดสระศรีเมืองโบราณสุโขทัย
พระราชประสิทธิคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานีและเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย อ.เมืองฯ จ.สุโขทัย มอบให้

ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆัง แยกส่วนได้ สันนิษฐานว่าเป็นพระอัฐิธาตุเจดีย์ (บรรจุพระอัฐิ) ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เนื่องจากพบร่วมกันกับแผ่นลานทองคำจารึกข้อความระบุศักราช ๗๔๖ ตรงกับพุทธศักราช ๑๙๒๘ กล่าวถึงการสร้าง “พระเจดีย์สี่ด้าน พระธาตุแห่งพระมหาธรรมราชา” โดยพระมหาสังฆราชเจ้าผู้เป็นครูในพระมหาธรรมราชาลิไท ในกรุของเจดีย์ประธานวัดสระศรี เมืองโบราณสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สิ่งบรรจุพระอัฐิธาตุประกอบด้วย ชั้นนอกสุดเป็นเจดีย์สำริดปิดทองชิ้นนี้ ชั้นกลางเป็นเจดีย์ดีบุก ชั้นในสุดน่าจะเป็นผอบทองคำซึ่งสูญหายไปแล้ว และยังมีกรวยเหล็กและกรวยชิน (สำหรับครอบดอกไม้บูชา) อีก ๒ กรวย พบรวมอยู่ในกรุ

 

 
  เทวดาปูนปั้น.jpg

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

๔.   ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม รูปเทวดา

ปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐

ขนาดสูง ๔๗ เซนติเมตร กว้าง ๖๐ เซนติเมตร

ได้จากวัดพระพายหลวง ต.เมืองเก่า อ.เมืองฯ จ. สุโขทัย

เป็นประติมากรรมนูนสูง บนแผ่นทรงสี่เหลี่ยมปูนปั้นรูปเทวดาสามองค์ประทับนั่งประนมพระหัตถ์ ยกพระชานุ (เข่า) ซ้ายขึ้น ในกรอบประดับด้วยลายดอกไม้ เศียรเทวดาองค์ขวากะเทาะหายไป ที่ยังเหลืออยู่ปรากฏประภามณฑลรูปวงรีอยู่ด้านหลังพระเศียร ระหว่างประภามณฑลของแต่ละองค์มีดอกพุดตานคั่นอยู่ เทวดาแต่ละองค์มีเครื่องประดับ มงกุฎ กรองศอ กุณฑล ทองกร และกำไล สำหรับ ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาจากวัดพระพายหลวงชิ้นนี้ สะท้อนความเชื่อและความศรัทธาทางพุทธศาสนาซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบงานศิลปะ การประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม เทคนิคและภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ของช่างสมัยสุโขทัย

 

 

เรียบเรียงโดย

น.ส.เบญจวรรณ จันทราช  ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

ข้อมูล ณ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๐