การกระทำอันละเมิดพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารรูปปัจจุบันได้ดำเนินการรื้อถอน ทำลายโบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตรฯ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๖ ในระยะแรกกรมศิลปากรได้เข้าเจรจาและจัดให้มีการประชุมร่วมกันหลายฝ่าย และที่ประชุมฯ ได้มีมติให้วัดกัลยาณมิตรฯ จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์โบราณสถานภายในวัดฯ

          กรมศิลปากรได้มีหนังสือนมัสการแจ้งเจ้าอาวาสให้ระงับการดำเนินการเป็นจำนวนหลายฉบับ พร้อมทั้งได้เข้านมัสการสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อขอให้วัดระงับการกระทำอันละเมิดกฎหมาย แต่มิได้รับความร่วมมือจากทางวัดแต่อย่างใดจนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรฯ ในครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๑

          การดำเนินคดีทางอาญาต่อวัดกัลยาณมิตรฯ ได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนคดีรวม ๑๖ คดี ๔๕ รายการ แบ่งออกเป็น

- การรื้อถอนโบราณสถาน ๒๒ รายการ

- การบูรณะโบราณสถาน ๕ รายการ

- การก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร ๑๘ รายการ 

นอกจากนี้ยังมีคดีทางปกครองอีก ๓ คดี และคดีถึงที่สุดแล้วทุกคดี อันเป็นที่มาที่กรมศิลปากรเข้าดำเนินการรื้อถอนศาลารายจำนวน ๒ หลังที่สร้างขึ้นบนโบราณสถานที่วัดฯ ได้รื้อถอนทำลายไป ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ รายละเอียดดังนี้

 

คดีปกครองกรณีวัดกัลยาณมิตรฯ

คดีปกครองในกรณีวัดกัลยาณมิตร มีจำนวน ๓ คดี ได้แก่ คดีปกครองหมายดำที่ ๙๐/๒๕๕๒, คดีปกครองหมายดำที่ ๔๕๗/๒๕๕๒ และคดีปกครองหมายดำที่ ๔๖๑/๒๕๕๕    

 

๑.       คดีปกครองหมายดำที่ ๙๐/๒๕๕๒ (คดีหมายเลขแดงที่ ๒๐๔๔/๒๕๕๓ - คดีถึงที่สุด)

นายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กับพวกรวม ๓๓ คน ได้ยื่นฟ้อง กรมศิลปากร โดยวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารเป็นผู้ร้องสอด

ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ วัดกัลยาณมิตรฯ ผู้ร้องสอดอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีนี้ และต่อมาได้ถอนอุทธรณ์ และศาลอนุญาต คดีถึงที่สุด

คำพิพากษา

ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ ให้กรมศิลปากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ทวิ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ และแจ้งให้วัดกัลยาณมิตรฯ ผู้ร้องสอด ระงับการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้าย โบราณสถาน หรือส่วนต่างๆของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด หรือปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถานผู้ร้องสอดโดยเด็ดขาด จนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ถูกฟ้องคดี

๑.๑ การปฏิบัติของกรมศิลปากรตามคำพิพากษา ตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ

                   (เนื้อความ) “ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียนเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี”

                   (เนื้อความต่อ) “ในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาต ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งระงับการก่อสร้าง และให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง”

                   (เนื้อความต่อ) “ผู้ใดขัดขืนไม่ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารตามคำสั่งอธิบดี มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และให้อธิบดีดำเนินการรื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นได้ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ปลูกสร้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีแก่ผู้รื้อถอนไม่ว่าด้วยประการใดทั้งสิ้น”

                   (เนื้อความต่อ) “สัมภาระที่รื้อถอนถ้าเจ้าของไม่ขนย้ายออกไปจากเขตโบราณสถานภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันรื้อถอนเสร็จ ให้อธิบดีจัดการขายทอดตลาดสัมภาระนั้น เงินที่ได้จากการขายเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและการขายแล้วเหลือเท่าใด ให้คืนให้เจ้าของสัมภาระนั้น”

 

                   กรมศิลปากรดำเนินการตามมาตรา ๗ ทวิ ดังนี้

-                    มีหนังสือที่ วธ ๐๔๐๑/๑๕๖๖ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เรื่อง ขอให้ระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร (วัดฯ ได้ยื่นฟ้องกรมศิลปากร-คดีถึงที่สุดตามรายละเอียดในคดีปกครองหมายดำที่ ๔๕๗/๒๕๕๒)

-                      ดำเนินการรื้อถอนศาลารายที่สร้างขึ้นใหม่จำนวน ๒ หลัง เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘

 

                   การปฏิบัติของกรมศิลปากรตามคำพิพากษา ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ

(เนื้อความ) “ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย”

กรมศิลปากรดำเนินการตามมาตรา ๑๐ โดยดำเนินการแจ้งความต่อผู้กระทำความผิดทั้งหมด ๑๖ คดี รายละเอียดตามสรุปคดีอาญา

๑.๒ คดีปกครองหมายดำที่ ๔๕๗/๒๕๕๒ (คดีถึงที่สุด)

วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหารได้ยื่นฟ้องกรมศิลปากร ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๕๗/๒๕๕๒ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งกรมศิลปากรยกเลิกคำสั่งห้ามให้วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหารกระทำการก่อสร้างอาคารในที่ดินของวัดและรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรตามหนังสือ ที่ วธ ๐๔๐๑/๑๕๖๖ เรื่อง ขอให้ระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒

คดียุติแล้ว เพราะวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ผู้ฟ้องคดี ขอถอนฟ้อง ซึ่งศาลอนุญาตและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔

 

๑.๓ คดีปกครองหมายดำที่ ๔๖๑/๒๕๕๕ (คดีถึงที่สุดตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๘/๒๕๕๘)

วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหารได้ยื่นฟ้องกรมศิลปากร ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๖๑/๒๕๕๕ เนื่องจากกรมศิลปากรได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ วธ ๐๔๐๓/๑๐๓๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๕ ให้ทราบว่าพื้นที่พิพาทวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารศาลปกครองได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ๙๐/๒๕๕๒ และกรมศิลปากรโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักโบราณคดีได้เข้าตรวจพบว่ามีการดำเนินการก่อสร้างในเขตโบราณสถานและพฤติการณ์มีแนวโน้มจะรื้อถอน ทำลายโบราณสถานภายในวัดเพิ่มเติม จึงขอห้ามรื้อถอน ทำลายอาคารหมายเลข ๒๐ ค ๔/๔, ๒๐ ค ๔/๕ และ ๒๑ รวมทั้งห้ามการดำเนินการใดๆ ภายในวัดที่ขัดต่อมาตรา ๑๐ มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยสาเหตุจากการที่กรมศิลปากรได้มีหนังสือฉบับดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยืนฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ฟ้อง และผู้ร้องมีคำร้องที่ ๖๐๑/๒๕๕๖ ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ ๑๑๘/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเป็นการฟ้องซ้ำ

โดยศาลได้พิจาณาว่า ในกรณีนี้ศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีปกครองหมายดำที่ ๙๐/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๒๐๔๔/๒๕๕๓ ว่าผู้ฟ้องคดี (วัดกัลยาณมิตร) เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วตามกฎหมาย และได้พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กรมศิลปากร) สั่งให้วัดกัลยาณมิตรระงับการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปล รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถาน หรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถาน

 

การปฏิบัติของกรมศิลปากรตามคำพิพากษา

ในคดีหมายเลขดำที่๙๐/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๒๐๔๔/๒๕๕๓

(ขยายความการดำเนินการตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ)         

ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ กรมศิลปากรเข้าดำเนินการรื้อถอนศาลารายที่สร้างขึ้นใหม่จำนวน ๒ หลังภายในวัดกัลยาณมิตรฯ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีหมายเลขดำที่         ๙๐/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๒๐๔๔/๒๕๕๓ ที่ให้กรมศิลปากรดำเนินการตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ต่อวัดกัลยาณมิตรฯ ผู้ร้องสอด

ในกรณีนี้ กรมศิลปากรได้มีหนังสือที่ วธ ๐๔๐๑/๑๕๖๖ เรื่อง ขอให้ระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ โดยวัดฯ ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองและได้ถอนฟ้องในเวลาต่อไป จึงถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว

กรมศิลปากรจึงได้คัดเลือกอาคารที่จะทำการรื้อถอน นำเสนอเข้าคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ และที่ประชุมฯ เห็นชอบในการที่กรมศิลปากรจะเข้ารื้อถอนศาลารายจำนวน ๒ หลัง ที่สร้างทับโบราณสถานศาลาเสวิกุล และศาลาทรงปั้นหยา ซึ่งวัดฯ ได้รื้อถอนทำลายไปก่อนหน้านี้

เมื่อกรมศิลปากรได้ผู้รับจ้างในการดำเนินการ จึงได้มีหนังสือกรมศิลปากรที่ วธ ๐๔๐๑/๒๗๑๙ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เรื่องแจ้งการเข้ารื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร นมัสการเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร แจ้งกำหนดการเข้ารื้อถอนศาลารายที่สร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมายนี้ ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ และได้จัดทำป้ายขนาดใหญ่ไปติดไว้ที่ศาลารายทั้ง ๒ หลังในเวลาต่อมาด้วย 

นอกจากศาลารายที่สร้างขึ้นใหม่จำนวน ๒ หลังที่อยู่ระหว่างการรื้อถอน ยังมีอาคารอีก.....รายการ ที่ละเมิดพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ โดยสร้างขึ้นภายหลังการรื้อทำลายโบราณสถานอย่างผิดกฎหมาย