โบราณสถานวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท  ชนิดวรมหาวิหาร   ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้  แขวงวัดกัลยาณ์  เขตธนบุรี  หรือที่เรียกบริเวณนี้ว่าย่านกุฎีจีน ด้านตะวันออกของวัดกัลยาณมิตรฯ  มีศาลเจ้าจีนตั้งอยู่ชื่อว่า “เกียงอันเกง”ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรง-  ราชานุภาพมีพระราชวินิจฉัยว่าศาลเจ้านั้นสร้างหันหน้าแปรไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ  ไม่หันหน้าตรงลงแม่น้ำหรือทางคลองกุฎีจีน  ศาลเจ้านั้นพวกจีนคงสร้างแต่เมื่อที่ตรงนั้นยังเป็นหัวแหลมแม่น้ำเลี้ยวเหมือนชอบสร้างในที่อื่นๆ เช่นเดียวกัน   คือสร้างเมื่อแม่น้ำเจ้าพระยายังไปทางคลองบางกอกใหญ่  เวลาที่ตรงวัดกัลยาณมิตรยังเป็นแม่น้ำ   ในสมัยเมื่อแรกหรือก่อนขุดคลองลัดบางกอก  ครั้งรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช  คลองกุฎีจีนเป็นแนวฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยนั้น   แต่ตรงที่สร้างวัดกัลยาณมิตรเห็นจะตื้นเขินจนเกิดคลองกุฎีจีนมาแต่ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว  เพราะฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี  รวบรวมผู้คนที่แตกฉานกระจัดกระจายให้มาอยู่ที่กรุงธนบุรี  จึงโปรดให้พวกจีนชาวพระนครศรีอยุธยามาตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างเหนือคลองกุฎีจีนตรงที่เป็นวัดกัลยาณมิตรในปัจจุบัน    เจ้าสัวมันบิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์มาอยู่ที่บริเวณดังกล่าว  และเจ้าพระยานิกรบดินทร์เกิดในที่บริเวณนี้ จึงเป็นเหตุที่สร้างวัดกัลยาณมิตรเมื่อรัชกาลที่ ๓

วัดกัลยาณมิตร สร้างขึ้นเมื่อปีระกา พ.ศ.๒๓๖๘  โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร  นามเดิมว่า โต  เป็นบุตรพระพิชัยวารี (มัน  แซ่อึ๋ง)  ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ   กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ตลอดเวลาที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณนั้นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ได้เป็นกำลังสำคัญในการค้าสำเภาไปเมืองจีน  โดยทำหน้าที่ดูแลรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ในพระองค์   จนการค้าเจริญรุ่งเรือง   เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย   ถึงกับออกพระโอษฐ์ดำรัสว่า เจ้าสัวโตเป็นมิตรที่ดีคนหนึ่งของพระองค์  ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เจ้าสัวโตจากพระยาราชสุภาวดี  จึงพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ใหม่ให้มีความหมายตามพระราชปรารถว่า เจ้าพระยานิกรบดินทร์  มหินทรมหากัลยาณมิตร 

เจ้าพระยานิกรบดินทร์  เป็นผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาราชสุภาวดี  เจ้ากรมสุรัสวดีกลาง  ได้อุทิศที่บ้านเดิมของท่าน  แล้วซื้อที่บ้านข้าราชการและบ้านเจ๊สัว  เจ้าภาษี  นายอากรอื่นอีกหลายบ้าน  ซึ่งเดิมเรียกว่าหมู่บ้านกุฎีจีน  และสร้างวัดขึ้นตามพระราชนิยม  เมื่อสำเร็จแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชทานนามให้มีความหมายเกี่ยวข้องระหว่างพระองค์ที่ทรงมีต่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ผู้สร้างวัด  และเพื่อเป็นอนุสรณ์ยืนยันถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ซึ่งทรงถือว่าเป็นมิตรที่ดีคนหนึ่งของพระองค์ว่า “วัดกัลยาณมิตร”โดยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อก่อพระฤกษ์พระโตวัดกัลยาณมิตร ณ วัดพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๘๐)   พระราชทานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง   ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดพระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

การประกาศราชกิจจานุเบกษา

ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๖ ตอน ๖๔  วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๒

 

สิ่งสำคัญในบริเวณโบราณสถาน

                «๑. พระวิหารหลวง

                «๒. พระอุโบสถ

                «ส๑ –ส๘ เสมาและซุ้มเสมา

                «๓. พระวิหารน้อย

                «๔. หอพระธรรมมณเฑียรเฉลิมพระเกียรติ

                «๕. ศาลาตรีมุข

                «๖. ศาลาจตุรมุข

                «๗. ศาลาราย

                «๘. เก๋งจีน

                «๙. ตึกหิน (เกชิ้น)

                «๑๐. ซุ้มประตู / รั้วศิลา

                  ๑๑. เจดีย์

                             «๑๑/๑ –๑๑/๖

                «๑๒. ถะ

                   ๑๓. หอระฆัง

                              «๑๓/๑ –๑๓/๔

                     ๑๔. ซุ้มประตู

                             «๑๔/๑ –๑๔/๔

                «๑๕. เสาศิลา

                «๑๖. ศาลาเสวิกุล

                «๑๗. ศาลาทรงปั้นหยา

                «๑๘. หอกลอง

                «๑๙. ตึกหอสวดมนต์กัลยาณาลัย

                  ๒๐. กุฏิสงฆ์ 

                «    ๒๐ค๑/๑ –๒๐ค๑/๔

                «    ๒๐ค๒/๑ –๒๐ค๒/๘

                «    ๒๐ค๓/๑ –๒๐ค๓/๔

                «    ๒๐ค๔/๑ –๒๐ค๔/๖

                «    ๒๐ค๗/๑ –๒๐ค๗/๓

                «๒๑. อาคารเก็บอัฐิ

                  ๒๒. สระน้ำ

                «    ๒๒/๑ –๒๒/๒