ปรับขนาดอักษร

กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

 

       

       กลุ่มจิตรกรรม สังกัดสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานวิจิตรศิลป์โดยเฉพาะสาขาจิตรกรรม ทั้งในด้านจิตรกรรมไทยตามแบบประเพณีนิยม และจิตรกรรมร่วมสมัย โดยเน้นไปในแนวทางของศิลปะตามหลักวิชาการ (Acadamic Art) หน้าที่และความรับผิดชอบของกลุ่มงานจึงดำเนินควบคู่กันไปทั้งการ อนุรักษณ์ สืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญา และ การสร้างสรรค์ต่อยอดองค์ความรู้โดยพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย

       ที่ผ่านมากลุ่มจิตรกรรม ได้เข้าไปมีบทบาทในงานศิลปกรรมสำคัญระดับชาติมากมายอาธิเช่น การออกแบบและเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธรัตนสถานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, จิตรกรรมไตรภูมิกถาฉบับรัชกาลที่ ๙,จิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดราชผาติการาม เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นในการสร้างสรรค์ระดับบุคคล บุคลากรภายในกลุ่มได้สร้างผลงานไว้อย่างต่อเนื่องในหลายแนวทางด้วยกันได้แก่ ภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพบุคคลสำคัญต่างๆ จิตรกรรมไทยแบบประเพณีนิยม และจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย โดยอาศัยแนวเรื่องจากประวัติศาสตร์ ศาสนา วิถีชีวิตและ วัฒนธรรม  

     ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางศิลปะวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน หน้าที่หลักอีกประการคือการรวมรวมเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆในด้านงานจิตรกรรม การจัดนิทรรศการทางศิลปะ การจัดอบรมให้บริการความรู้ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป ได้รับรู้ซึมซับและเข้าใจในวัฒนธรรมอันดี และเมื่อนำไปผนวกกับวิชาการความรู้ใหม่ๆ จะทำให้เกิดการพัฒนาไปในแนวทางที่ดีงามต่อไป    

   

 

 

พระพุทธรัตนสถาน : จิตรกรรมฝาผนังตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๙

            พระพุทธรัตนสถานตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียวประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง  มีอาคารประกอบ ได้แก่ ศาลาโถง ๒ หลัง เสาประทีป ๔ ต้น   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธรัตนสถานขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๗.๕ นิ้ว  สูงเฉพาะองค์ ๑๒.๕ นิ้ว  สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๒๐.๔ นิ้ว  ส่วนฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ ๓ ชั้น  เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์  ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสีเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกขาว  ที่ช่างเรียกว่า  เพชรน้ำค้างหรือบุษย์น้ำขาว  น้ำใสบริสุทธ์เอกอุ  อัญเชิญมาจากนครจำปาศักดิ์เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ  เดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
            พระพุทธรัตนสถานจึงเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลของฝ่ายในตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา  แม้ในสมัยต่อมา  พระมหากษัตริย์จะมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังเช่นแต่ก่อน  เมื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญในรัชกาล  นอกจากจะทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว มิได้เว้นที่จะมากระทำ ณ พระพุทธรัตนสถานตามธรรมเนียม  ดังปรากฏพระราชกรณียกิจในหมายกำหนดการ

         จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๔  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒  ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดโจมตีกองทัพเรือ และสถานีรถไฟบางกอกน้อย เพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์ ระเบิดได้ตกลงที่พระบรมมหาราชวังข้างพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ๑ ลูก ด้วยแรงสั่นสะเทือนและน้ำหนักของลูกระเบิดทำให้ชายคาและผนังด้านทิศเหนือชำรุด  โครงสร้างและส่วนประกอบภายในชำรุดเสียหาย จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๒  สำนักพระราชวังจึงได้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากแรงระเบิดก่อน  และบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นเดิมในปี พ.ศ. ๒๔๙๖
         ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๖  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีพระราชประสงค์ให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถพระพุทธรัตน สถานขึ้นใหม่  แทนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทร  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน  ช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๙  ด้วยทรงเห็นว่าไม่สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนบนซึ่งเขียนในสมัยรัชกาล ที่ ๔  อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย พระประธานในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน  เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปในงานสมโภชวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ  ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ พ.ศ. ๒๕๓๕  ทรงทราบว่ากรมศิลปากรสามารถดำเนินการลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังและอนุรักษ์ของเดิมไว้ได้  กรมศิลปากรจึงรับพระราชกระแสมาดำเนินการ
        ปัจจุบันแนวการเขียนแบบโบราณนับวันจะหมดไป  เพราะศิลปินยุคใหม่ได้รับอิทธิพลศิลปะสากลจากตะวันตกมาอย่างกว้างขวาง  ทั้งรูปแบบ  แนวคิด  และการใช้สี อีกทั้งโอกาสที่จะสร้างศิลปกรรมแบบโบราณไม่มีแล้ว  จึงดูเสมือนว่าศิลปินสมัยใหม่ได้ละทิ้งรูปแบบดั้งเดิมของช่างโบราณไปโดยไม่ ตั้งใจ ฉะนั้น ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 8 ช่อง ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในโอกาสนี้  กล่าวได้ว่าเป็นการรักษาแบบแผนอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมประจำชาติไว้ ให้มีความเชื่อมต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ สามารถยึดถือได้ว่า  นี่คืองานศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๙  ได้อย่างภาคภูมิ

 
ภาพร่างลายเส้นจิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถาน

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระราชดำริ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม ราชประเพณ พระพุทธศาสนาโดยให้ยึดความสำคุญของพุทธรัตนสถานเป็นหัวใจของการกำหนดภาพทรง แก้ไขทุกภาพร่างทุกภาพอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อรักษาแบบแผนเอกลักษณ์จิตรกรรมฝาผนังของไทยอันสืบทอดมาแต่โบราณผสมผสาน กับลักษณะความสมจริงตามประวัติศาสตร์ของแต่ละสมัย ซึ่งไม่เคยปรากฏในภาพจิตรกรรมไทยประเพณีมาก่อน จึงเป็นการสร้างรูปแบบภาพเขียนที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๙

         

      

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ๘ ช่อง     

     ช่องที่ ๑ เหตุการณ์ในรัชกาลที่ ๔

      พุทธศักราช ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาก่อพระฤกษ์สร้างพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นปฐม ในบริเวณนี้พระพุทธรัตนสถานมีอาคารประกอบที่สำคัญคือ หอระฆัง ศาลาโถงทรงไทย ๒ หลัง เบื้องหน้า ซ้าย ขวา

     บรรดาช่างหลายประเภท อาธิ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างแกะสลัก ช่างมุก ทั้งในการสร้างฐานชุกชีแกะจำหลักด้วยงาช้างและสร้างบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัยภายในพระวิหารทุกคนขมักเขม้นในภาระกิจ เป็นบรรยากาศของการทำงานก่อสร้าง ที่สะท้อนให้เห็นสภาพภายในพระบรมหาราชวังชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉพาะช่าง ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร การแต่งกายและวัฒนธรรมการเข้าเฝ้าฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    

 

ช่องที่ ๒ เหตุการณ์ในรัชกาลที่ ๔

       พุทธศักราช ๒๔๐๔ เมื่อก่อสร้างพระพุทธรัตนสถานแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธียกช่อฟ้าพระพุทธรัตนสถานแล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยจากหอพระสุลาลัยพิมาน ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยกระบวนพระอิศริยยศเข้ามาประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถาน

       ในการสมโภช มีมหรสพตามแบบโบราณได้แก่ การละเล่นของไทย การแสดงอุปรากรจีนเป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ช่องที่ ๓ เหตุการณ์ในรัชกาลที่๕

       พุทธศักราช ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลงพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ เพื่อทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จ พระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีผูกพุธสีมาฝังลูกนิมิต พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานจึงเป็นพระอุโบสถประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในพระบรมราชจักกรีวงศ์ต่อมาทรงผนวช

       สมัยนี้บ้านเมืองในต้นรัชกาล วิถีชีวิตของสังคมไทยโดยเฉพาะการแต่งกาย ยังมีลักษณะเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เริ่มมีอิทธิพลตะวันตกบ้าง ส่วนการคมนาคมเริ่มมีรถลาก ซึ่งเรียกว่า "รถเจ๊ก" เป็นพาหนะ

 

.