ปรับขนาดอักษร

กลุ่มงานช่างโลหะและช่างศิราภรณ์

 

 

ภารกิจกลุ่มงาน : งานช่างโลหะ

           

งานช่างโลหะ มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลในอาณาจักรล้านนาก่อนที่จะตั้งกรุงสุโขทัยเป็น ราชธานี และได้มีการสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเรื่อยมาจนถึงสมันปัจจุบัน ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานจดหมายเหตุและพงศาวดาร รวมทั้งกล่าวถึงงานโลหะบ้าง
      ในอดีตงานช่างโลหะจะเรียกว่า งานช่างบุ หรืองานช่างสลักดุน ที่ล้วนเป็นงานช่างที่นำโลหะชนิดต่างๆ เช่น ดีบุก เงิน ทองแดง ทองคำ หรือโลหะอื่นๆ ที่หลอมละลายตัวง่าย มาสร้างสรรค์เป็นงานโลหะประดิษฐ์ในรูปแบบงานศิลปกรรมไทยที่มีคุณค่าสูงยิ่ง ให้ราชสำนักโดยเฉพาะ เครื่องราชูปโภค เครื่องทอง เครื่องประกอบราชพิธีของพระมหากษัตริย์ เครื่องประดับตกแต่งต่างๆ พระพุทธรูป สถูป เจดีย์ พระปรางค์ มณฑป ฯลฯ ตลอกจนเครื่องใช้ต่างๆ เช่น พาน ขัน ถาด ผอบ โถ โกศ เป็นต้น
      งานช่างโลหะถือว่า เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ ทักษะ และความประณีตเป็นอย่างมาก ในการตกแต่งผิวโลหะภายนอกของงานประเภท ศิลปะภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และสถาปัตยกรรมบางลักษณะเพื่อให้มีคุณค่าสวยงาม และมั่นคงถาวร

ภารกิจกลุ่มงาน : งานช่างศิราภรณ์     
ศิลปะในการสร้างหัวโขนนั้น เริ่มก่อรูปขึ้นปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และเจริญขึ้นในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างหัวโขนมีความเจริญจนถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องด้วยพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในนาฏกรรมการแสดงโขน และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ทั้งทางด้านการแสดงโขน และการจัดสร้างศีรษะโขน ตลอดจนช่างทำหัวโขนในสมัยนั้นมีฝีมือมาก และสืบทอดกันได้ด้วยดี
      หัวโขน เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการแสดงโขนและเป็นสิ่งที่บรรดานาฏศิลป์ทั้ง หลายเคารพนับถือมาก เพราะเปรียบเสมือนเป็นครู มีการทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญเทพยดาตั้งเครื่องบายศรีบูชา เพื่อรำลึกถึงครูอาจารย์ ก่อนที่จะมีการสร้างหัวโขน ตลอดจนมีพิธีเบิกพระเนตรสวมหัวโขนใหม่ ในการแสดงครั้งแรก
      งานสร้างหัวโขน เป็นการทำงานในลักษณะบูรณาการของช่างสิบหมู่หลายสาขามารวมอยู่ที่งานสร้าง หัวโขนนี้ ได้แก่ งานปั้น งานปิดทองประดับกระจก งานเขียน เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความแยบยลของภูมิปัญญาไทยในอดีตเป็นอย่างดี